การเดินทาง : ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ตั้งอยู่ที่ ตำบลอ่างศิลา อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี บนเส้นทางเลียบชายทะเลจากอ่างศิลาไปเขาสามมุข ไม่ไกลจากหาดบางแสน การเดินทางนั้นก็ไม่ไกลจากกรุงเทพมากนัก ขับรถไปประมาณ 1 ชั่วโมง ศาลเจ้าตั้งอยู่ริมถนน มีบริเวณลานจอดรถที่กว้างขวาง เวลาทำการ : วันจันทร์-วันศุกร์ 08.00น.-17.00น. / วันเสาร์-วันอาทิตย์ 08.00น.-18.00น.
ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อแต่เดิมเป็นเพียงศาลเจ้าเล็กๆ แต่ด้วยความเคารพศรัทธาของชาวบ้านและผู้ที่มากราบไหว้ ซึ่งมีความเชื่อกันว่าจะให้โชคทางด้านการค้า ทำให้มีผู้คนเข้ามาสักการะมากมาย และก็ได้ถูกพัฒนาและปรับปรุงพื้นที่เรื่อยมา จนในปัจจุบันก็กลายเป็นศาลเจ้าจีนที่ใหญ่โตสวยงามตระการตา
อาคารต่างๆ ในศาลเจ้าสร้างด้วยศิลปะแบบจีน มีความวิจิตรงดงามของสถาปัตยกรรม รูปปั้นเทวรูป มีองค์เทพเจ้าปางต่างๆ มากมายให้บูชาเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนใหญ่คนที่มากราบไหว้มักจะมาขอเกี่ยวกับการงาน ให้ประสบความสำเร็จ และเรื่องของสุขภาพ อีกทั้งที่นี่ยังเป็นสถานที่ในการแก้ปีชงอีกด้วย ภายใน ศาลเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ เป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพศักดิ์สิทธิ์ ได้แก่
ชั้น 1 เป็นที่ประดิษฐานของ พระกษิติครรภโพธิสัตว์ ซึ่งทรงปณิธานคล้ายคลึงกับพระแม่กวนอิม แต่พระองค์จะต้องโปรดเวไนยสัตว์ที่อยู่ในนรกให้หมด
ชั้น 2 เป็นที่ประดิษฐานของ องค์เทพเจ้าหน่าจาซาไท้จื้อ ปางที่จำลองมาจากมณฑลเสฉวน ประเทศจีน
ชั้น 3 เป็นที่ประดิษฐานของ องค์เง็กเซียนฮ่องเต้ ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นกษัตริย์ของเทพทั้งปวง ใครมาสักการะพระองค์ก็จะได้บุญบารมีมาก
ชั้น 4 เป็นที่ประดิษฐานองค์พระประธาน หรือ องค์พระศรีศากยมุนีพระพุทธเจ้า องค์พุทธเจ้าอีก 5 พระองค์ (บริเวณภายในห้ามถ่ายรูป) และนอกจากนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพเจ้าคุ้มครองดวงชะตาไท้ส่วยเอี้ย 60 องค์ รวมถึงองค์เทพจันทรา เทพแห่งความรัก อีกด้วย
องค์เทพเจ้าหน่าจาไท้จื้อ นั้น มีความเชื่อกันว่า เป็นเทพแห่งความสำเร็จ เป็นเทพผู้ประสาทพร 4 ประการ ได้แก่ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ผู้ใดทำการสักการะบูชา จะอุดมด้วยโชคลาภ มีทรัพย์ มีชัยชนะไปทั่วทุกสาระทิศ
----------------------------------------
ประวัติของเทพนาจา หรือ หน่าจา (หรือ เหนอจา ภาษาจีนกลาง 哪吒)
เป็นเทพผู้พิทักษ์ในศาสนาพื้นบ้านของจีน มีชื่อในลัทธิเต๋าอย่างเป็นทางการว่า จอมพลแห่งแท่นบูชากลาง (中壇元帥) จากนั้นพระองค์ก็ทรงได้รับสมญานามว่า เจ้าชายบัวองค์ที่สาม(จีน 蓮花三太子) หลังจากที่ทรงเป็นเทพแล้ว
ปกรณัม
เดิมเทพนาจา มีอดีตชาติ มีชื่อว่า หลิน จูจื่อ เป็นลูกศิษย์ของไท่อิดจินหยิน แต่ด้วยโลกมนุษย์มีปีศาจมาก ทางสวรรค์จึงส่ง หลิน จูจื่อ มาจุติยังโลกมนุษย์ในยุคราชวงศ์ซาง ในตระกูลหลี่ (李) ประสูติเมื่อวันที่ 9 เดือน 9 (ตามปฎิทินจีน) เป็นบุตรของแม่ทัพหลี่ (หลี่เจ๊ง) และ นางฮึ่นสี ขณะที่ตั้งท้องอยู่นั้น แม่ทัพหลี่ ได้ถูกส่งให้ไปออกรบ ประมาณ 3 ปี กับอีก 6 เดือน เมื่อแม่ทัพหลี่กลับมา ภรรยาก็คลอดบุตรพอดี แต่กลับเป็นลูกแก้ว จึงเข้าใจว่าเป็นปีศาจ แม่ทัพหลี่โกรธมาก จึงใช้กระบี่ฟันไปที่ลูกแก้ว เมื่อลูกแก้วแตกก็เห็นเด็กผู้ชายหน้าตาน่ารักนอนอยู่บนผ้าแพร และมีห่วงทองอยู่ที่ตัวด้วย
นาจาในวัยเด็กเป็นเด็กที่ซนมากและไม่กลัวใคร วันหนึ่ง นาจาไปเล่นน้ำทะเล ด้วยเป็นเด็กจึงเอาผ้าเหวี่ยงเล่นที่น้ำ จึงทำให้ใต้บาดาลสะเทือน เจ้าสมุทร จึงสั่งให้ ทหารออกมาดู ก็เห็นเด็กกำลังเล่นน้ำอยู่ จึงเข้าไปขู่ นาจาจึงใช้ผ้าเหวี่ยง เพื่อไล่ให้ไปแต่ปรากฏว่าถูกตัวทหารทำให้ทหารของเจ้าสมุทรตาย ต่อมา ลูกเจ้าสมุทรเห็นว่านานแล้ว ทหารยังไม่มารายงานจึงขึ้นตามมาดูก็เห็นทหารตายอยู่ และมีเด็กกำลังเล่นน้ำอยู่ จึงเข้าไปขู่ แต่ก็ถูกผ้าแพรเหวี่ยงตายเช่นกัน ทหารก็ไปรายงานเจ้าสมุทร เจ้าสมุทรโกรธมาก จึงไปหา แม่ทัพหลี่ และบอกว่าลูกชายของท่านได้ฆ่าลูกของตน ดังนั้นเจ้าสมุทรจะเอาน้ำทะเลมาถล่มเมือง พอนาจาได้ยินรุ่งเช้า จึงไปเมืองบาดาลและถลกเส้นเอ็นมังกรและเสกมังกรให้เป็นงูเขียว แล้วเดินทางกลับบ้าน
เมื่อกลับถึงบ้าน แม่ทัพหลี่ก็ดุด่านาจาว่าเจ้าสมุทรโกรธมาก และจะถล่มเมือง นาจาจึงเอาเส้นเอ็นออกมาให้พ่อดู แล้วบอกว่า เส้นเอ็นนี้เอามาให้พ่อทำเสื้อเกราะ แล้วเจ้าสมุทรก็อยู่ที่ตัว นาจาก็ขว้างงูเขียวออกมา เห็นเป็นเจ้าสมุทร แม่ทัพหลี่โกรธมากจึงดุด่านาจา จนในที่สุด นาจาน้อยใจจึงแล่เนื้อคืนแม่ และแล่กระดูกคืนพ่อ จากนั้นจึงเข้าฝัน บอกให้แม่ทำศาลบูชาให้ แล้วนาจาจะได้ชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ แม่ทัพหลี่ทราบเรื่องก็ตามไปทำลายศาล นาจาจึงโกรธมากและคิดที่จะฆ่าพ่อ
เมื่อนาจาตายไปแล้วจึงหอบวิญญาณของตนไปพบไท่อิดจินหยิน ไท่อิดจินหยินเห็นว่า นาจามีความสามารถในการปราบมารปีศาจ จึงได้ชุบชีวิตให้กับนาจาโดยใช้ก้านบัวแทนกระดูก รากบัวแทนเนื้อ ใยบัวแทนเอ็น และใบบัวแทนเสื้อผ้าอาภรณ์ขึ้นมาใหม่
ดังนั้น รูปลักษณ์ของนาจา จะปรากฏให้ห็นเป็นรูปของเด็กผู้ชายเหยียบวงล้อไฟ มือถือหอกและห่วงเป็นอาวุธ มีอิทธิฤทธิ์เหาะเหินเดินอากาศได้ปราบมารปีศาจได้ ต่อมาภายหลังได้ช่วยเจียงจื่อหยานำกองทัพราชวงศ์โจวรบกับราชวงศ์ชางหลังจากได้รับชัยชนะไม่ขอรับรางวัลไดๆ จึงลากลับไปอยู่กับไท่อิดจินหยินผู้เป็นอาจารย์ นาจายังมีตำนานที่แตกต่างออกไป เช่น ในไซอิ๋วได้บรรยายว่า นาจาเมื่อเกิดข้างมือขวามีอักษรว่า นา ข้างมือซ้ายมีอักษรว่า จา จึงได้ชื่อว่า นาจา เมื่อเกิดได้ 3 วันแล้วจึงออกไปเล่นน้ำทะเลและได้ไปเหยียบปราสาทของเจ้าสมุทรและจับบุตรชายของเจ้าสมุทรถลกเส้นเอ็นมังกร เจ้าสมุทรโกรธมาก จึงไปหา แม่ทัพหลี่ผู้เป็นบิดา แม่ทัพหลี่จึงคิดจะฆ่านาจา นาจาน้อยใจจึงแล่เนื้อคืนแม่ แล่กระดูกคือพ่อ เมื่องนาจาตายแล้วดวงวิญญาณจึงลอยไปหาพระยูไลในดินแดนชมพูทวีป พระยูไลเห็นจึงรู้สงสารจึงได้ชุบชีวิตให้กับนาจาโดยใช้ก้านบัวแทนกระดูก รากบัวแทนเนื้อ ใยบัวแทนเอ็น และใบบัวแทนอาภรณ์ขึ้นมาใหม่แล้วพระยูไลจึงได้ให้นาจาไปปราบปีศาจทั้ง 96 ถ้ำ เมื่อปราบได้สำเร็จ นานาจึงคิดจะแก้แค้นแม่ทัพหลี่ผู้เป็นบิดา แม่ทัทหลี่จึงไปขอความช่วยเหลือจากพระยูไล พระยูไลจึงมอบเจดีย์ให้แม่ทัพหลี่เมื่อนาจาได้เห็นเจดีย์ที่เป็นตัวแทนของพระยูไลแล้วนาจาจึงไม่กล้าทำร้ายพ่อตัวเอง พระยูไลจึงให้สองพ่อลูกคืนดีกัน ต่อมาภายหลังจึงได้รับตำแหน่งเป็นแม่ทัพบนสวรรค์
มีความเห็นจากนักวิชาการชาวอิสราเอล เมเออร์ ชาเฮอร์ ว่านาจามีที่มาจากเทพปกรณัมฮินดู โดยเชื่อว่า นาจาคือ นลกุเวร ซึ่งเป็นบุตรชายของ ท้าวเวสสุวรรณ หรือท้าวกุเวร ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการยอมรับพอสมควรจากนักวิชาการชาวจีน โดยระบุว่าคำว่า "นาจา" ก็มาจากคำว่า นลกุเวร ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต ฐานยืนยันความเชื่อมโยงระหว่างคำทั้งสองนี้ปรากฏในพระสูตรมหามยุรีวิทยาราชาสูตร ของพุทธศาสนาในนิกายตันตระ ที่ต้นฉบับภาษาสันสกฤตที่แปลเป็นภาษาจีน โดยการแปลแต่ละครั้งมีการแปลชื่อนี้ออกมาไม่เหมือนกัน แต่ที่สุดแล้วคำว่า นลกุเวร เรียกอย่างสั้น ๆ แบบจีนว่า นาจา โดยมีพุทธศาสนานิกายตันตระเป็นตัวเชื่อมโยง อีกทั้งยังมีความเหมือนกันในเรื่องของปมเอดิปุสด้วย
----------------------------------------
นาจา หรือหน่าจาซาไท้จื้อ เทพเด็กผู้ทรงอิทธิฤทธิ์เกินเด็กของจีนองค์นี้ คงจะเป็นที่คุ้นเคยกันดีของแฟนานุแฟนคอลัมน์ไทยรัฐซันเดย์สเปเชียลโดยทีมงานนิตยสารต่วย’ตูน รวมถึงผู้ที่นิยมดูซีรีส์จีน โดยมีทั้งเรื่องที่สร้างจากตำนานของนาจาเอง หรือปรากฏเป็นตัวละครในตำนานอันโด่งดังอย่างไซอิ๋ว นอกจากนี้ ในหมู่ชาวไทยเชื้อสายจีนก็ศรัทธานาจาอยู่ไม่น้อย เห็นได้จากศาลเจ้าของเทพองค์นี้ที่พบได้หลายแห่ง
ทางฝั่งไทยเองก็มีนิทานพื้นบ้านที่นำเค้าโครงเรื่องมาจากตำนานของนาจา โดยได้ถูกนำมาสร้างเป็นละครจักรๆ วงศ์ๆ เรื่องโกมินทร์ ครั้งหนึ่งในปี 2546 จากต้นฉบับวรรณกรรมวัดเกาะ เรื่องพระโกมินทร์ เริ่มตีพิมพ์ตอนแรกในปี 2463 คนไทยบางส่วนก็รู้จักนาจาในนาม “เจ้าพ่อโกมินทร์” ซึ่งมีศาลบูชาในบางแห่งด้วยเช่นกัน
ตำนานเกี่ยวกับนาจานั้นมีอยู่ถึง 4 สำนวนด้วยกัน ดังนี้
สำนวนแรก ย้อนกลับไปสมัยปลายราชวงศ์เซียง คาบเกี่ยวต้นราชวงศ์จิว ในรัชสมัยของจิวบุ้นอ้วงเป็นฮ่องเต้ ตำนานกล่าวถึงเทพหน่าจาซาไท้จื้อว่าเป็นบุตรคนที่ 3 ของแม่ทัพหลี่จิ้ง มีกำเนิดที่ไม่ปกติเพราะอยู่ในครรภ์มารดานานถึง 3 ปี 6 เดือนกว่าจะคลอด และเมื่อคลอดออกมาก็มีลักษณะเป็นก้อนเนื้อหุ้มด้วยรก จนบิดาต้องใช้กระบี่ฟันก้อนเนื้อจึงปรากฏทารกเพศชายพันด้วยผ้าสีแดง ในมือถือห่วงทองคำ นั่น สร้างความปีติแก่ครอบครัวอย่างมาก นักพรตไท้อิกจิงยิ้งได้มาร่วมแสดงความยินดีกับแม่ทัพหลี่ และเห็นลักษณะนาจาว่าเป็นผู้มีบุญบารมีสูง จึงได้รับไว้เป็นศิษย์และถ่ายทอดวิชาให้ เมื่อนาจาอายุได้ 7 ขวบ ได้ออกไปท่องเที่ยวจนเกิดการวิวาทกับบุตรชายเจ้าสมุทร และพลั้งมือจนบุตรชายเจ้าสมุทรเสียชีวิต เจ้าสมุทรจึงมาแก้แค้นบิดาของนาจาโกรธเคืองบุตรของตนเป็นอย่างยิ่งจนนาจาต้องยอมผ่าท้องควักไส้ตนเองเพื่อชดใช้ความผิดด้วยชีวิต ต่อมาเทพไท้อิกจิงยิ้งได้ชุบชีวิตนาจาขึ้นมาใหม่ ตัวนาจาเองก็ได้ปฏิบัติธรรมจนเง็กเซียนแต่งตั้งให้เป็นขุนพลแห่งสวรรค์ มีอิทธิฤทธิ์ในการปราบภูตผีปีศาจ
สำนวนที่สอง ปรากฏในตำนานสมัยราชวงศ์หยวน (มองโกล) ในส่วนของการถือกำเนิดนั้นเหมือนกับสำนวนแรก แตกต่างกันตรงรายละเอียดการกระทำความผิดของนาจา ซึ่งกล่าวว่า นาจาในวัย 7 ขวบ ได้ไปท่องเที่ยวที่ทะเลตะวันออกและได้สร้างความวุ่นวายให้กับวังบาดาล เป็นเหตุให้เกิดการปะทะกับองค์ชายสาม บุตรของพญามังกรจนฝ่ายตรงข้ามเสียชีวิต พญามังกรโกรธมากและทูลต่อเง็กเซียนให้จับพ่อกับแม่ของนาจามาลงโทษ นาจาจึงชดใช้ความผิดด้วยการแล่เนื้อตนคืนแม่และตัดกระดูกคืนพ่อ สำหรับสำนวนนี้มีรายละเอียดความขัดแย้งระหว่างนาจากับบิดาเพิ่มจากสำนวนแรก ภายหลังนาจาคืนชีพ บิดาไม่พอใจที่ผู้คนต่างพากันกราบไหว้บุตรของตนเอง จึงสั่งให้ทำลายรูปปั้นนาจาทิ้งเสีย เป็นเหตุให้ผู้วิเศษไท่อี่ต้องชุบชีวิตขึ้นมาใหม่โดยใช้ก้านบัวแทนกระดูก รากบัวแทนเนื้อ ใยบัวแทนเอ็น และใบบัวแทนอาภรณ์ จากนั้นนาจาจึงได้กลับไปถล่มวังมังกรอีกหนหนึ่ง
สำนวนที่สาม ปรากฏในตำนานวัดและเทพเจ้าจีนของต้าฟู้ เป็นตำนานที่เท้าความถึงเรื่องราวก่อนการกำเนิดของนาจา ที่แม่ของนาจาฝันว่ามีนักบวชลัทธิเต๋ามาเข้าฝันแล้วบอกว่า เธอจะให้กำเนิดบุตรชายของสัตว์เหมือนม้ามีเขาเดียวกลางศีรษะ เมื่อนางให้กำเนิดนาจา เขามีความสูงถึง 2 เมตร สำหรับเรื่องราวของนาจาต่อจากนี้จะพ้องกับสำนวนที่หนึ่ง แต่จะกล่าวถึงบทบาทแม่ของนาจาในฐานะผู้สร้างวัด เพื่อให้ผู้คนมาสักการะเทพนาจา
สำนวนสุดท้าย เท้าความถึงเมื่อครั้งที่นาจาเป็นราชรถเทียมม้าของเง็กเซียนฮ่องเต้ มีลักษณะที่โดดเด่นด้วยความสูง 9 เมตร มี 3 เศียร 9 เนตร 8 กร เป็นเทพที่มีฤทธิ์เดชมาก เง็กเซียนจึงมีบัญชาให้ไปจุติเพื่อปราบปีศาจ เนื้อเรื่องในส่วนการกำเนิด ปมปัญหาในชีวิต และการฟื้นคืนชีพจะคล้ายคลึงกับสำนวนที่สอง ทว่าในตอนท้ายมีรายละเอียดว่า ผู้ที่ชุบชีวิตนาจาจากที่วิญญาณต้องสิงสถิตอยู่ในดอกบัวคือ เจ้าแม่กวนอิม จนได้กลับมาเป็นเทพผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อีกครั้งหนึ่ง โดยในภายหลังเง็กเซียนได้แต่งตั้งให้นาจาเป็นขุนพลของเหล่าเทพ ทำหน้าที่รักษาประตูสวรรค์ (ข้อมูลอ้างอิงทั้ง 4 สำนวนจากบทความวิจัยเรื่อง “เทพนาจา” : ความหมายขององค์เทพผ่านตำนานและพิธีกรรมในบริบทสังคมร่วมสมัย ของกฤตยา ณ หนองคาย)
ย้อนกลับมาพิจารณาประเด็นเรื่องต้นกำเนิดของตำนานเทพนาจา เมเออร์ ชาฮาร์ (Meir Shahar) นักวิชาการชาวอิสราเอลแห่งมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ (Tel Aviv University) ผู้สนใจศึกษาวรรณกรรมและศาสนาของจีน ได้ศึกษาเปรียบเทียบตำนานเทพนาจาของจีนกับเรื่องราวในมหากาพย์เอาไว้ในบทความเรื่อง Indian Mythology and the Chinese Imagination : Nezha, Nalakubara, and Krshna อย่างน่าสนใจ
ชาฮาร์กล่าวถึงนาจาในฐานะเทพเด็กที่ชาวจีนจำนวนมากบูชา ถึงขั้นจัดว่าเป็นหนึ่งในหมู่เทพยอดนิยมของจีนเลยก็ว่าได้ กระนั้นก็ตาม การจะจัดจำแนกเทพองค์นี้ว่าอยู่ในศาสนาใดก็เป็นเรื่องยากมาก เพราะเรื่องราวของนาจาปรากฏในตำนานของทั้งลัทธิเต๋าและพุทธศาสนานิกายตันตระ และยังปรากฏในวรรณกรรมจีนหลายเรื่องด้วยกัน ได้แก่ บทละครงิ้วในสมัยราชวงศ์หยวน นวนิยายเรื่องไซอิ๋ว (แต่งขึ้นประมาณ ค.ศ.1592) และนวนิยายจีนสมัยราชวงศ์หมิงอย่างห้องสิน (ประมาณ ค.ศ.1620) นอกจากนี้ ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 ตำนานมุขปาฐะเกี่ยวกับนาจายังถูกบอกเล่าต่อกันโดยทั่วไป
|