คนส่วนใหญ่มีความเชื่อกันว่า ผมของเด็กที่ติดมากับครรภ์มารดานั้น ไม่ค่อยสะอาดนัก จึงต้องโกนทิ้งเพื่อให้ผมขึ้นมาใหม่ แต่จะโกนเมื่อแรกคลอดเลยนั้นก็ไม่สะดวก เนื่องจากยังต้องวุ่นอยู่กับการเลี้ยงดูและจัดหาข้าวของเครื่องใช้ ตัวมารดาเองเพิ่งคลอดบุตรยังไม่ค่อยแข็งแรงนักอีกสาเหตุหนึ่งคือเด็กที่คลอดใหม่ๆ กะโหลกศีรษะยังบอบบาง แม้เมื่อมีอายุครบ ๑ เดือนแล้วก็ยังไม่ค่อยแข็งเท่าไรนัก การทำพิธีโกนผมไฟจึงควรระมัดระวัง และให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญโกนผมให้จะดีกว่าทำกันเอง
เหตุที่เรียกว่าผมไฟ เนื่องจากในสมัยก่อนตามชนบทมีแต่หมอตำแยตามหมู่บ้านเป็นหมอผู้ทำคลอด เมื่อคลอดออกมา แม่ต้องอยู่บนแคร่ข้างเตาไฟ เรียกว่า อยู่ไฟ อาจอยู่ไฟ 7 วัน หรือ 10 วันบ้าง เพื่อให้มดลูกเข้าอู่ มีร่างกายสมบูรณ์ สามารถให้นมลูกได้อย่างเพียงพอ จึงออกจากเตาไฟได้ เรียกว่า หย่าไฟ ด้วยเหตุนี้ จึงเรียกผมของเด็กแรกเกิดว่า ผมไฟ ในการจัดงานโกนผมไฟนั้น ปกติมักนิยมไปหาพระอาจารย์ที่วัดหรือให้โหราจารย์ที่เชี่ยวชาญหาฤกษ์งามยามดีให้ (บางท้องถิ่นนิยมทำเดือน 4, 5, 6 และ 12)
สำหรับพิธีโกนผมไฟนั้นมีทั้งพิธีของสงฆ์และของของพราหมณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย คือ
1.พิธีสงฆ์ ได้แก่ การสวดมนต์เย็น รับอาหารบิณฑบาตรตอนเช้า
2.พิธีพราหมณ์ ได้แก่ การรดน้ำ
ต้องเตรียมจัดสถานที่และข้าวของเครื่องใช้สำหรับพระที่จะสวดเจริญพระพุทธมนต์ และตระเตรียมหม้อน้ำมนต์ เครื่องสระศีรษะ (สำหรับใส่ในหม้อน้ำมนต์) สังข์ บัณเฑาะว์ (สำหรับตีและเป่าในพิธี ส่วนใหญ่พราหมณ์ผู้ทำพิธีจะจัดเตรียมมาเอง) นอกจากนั้นยังมี เครื่องสำหรับโกนศีรษะเด็ก อันได้แก่ มีดโกน ใบบัว ดอกไม้ธูปเทียน ฯลฯ
หากเจ้าภาพเป็นผู้ที่ฐานะดีมีหน้ามีตาก็จะมีการบอกข่าวหรือออกบัตรเชิญ ไปยังญาติสนิทมิตรสหาย ตลอดจนผู้ที่เคารพนับถือให้มาเป็นเกียรติในงาน ผู้มาร่วมงานก็จะนำของขวัญหรือเงินทองมาให้ร่วมรับขวัญ เรียกว่าเป็นการลงขัน
ลำดับขั้นตอนการโกนผมไฟ
1. การหาฤกษ์งามยามดี โดยให้พระหรือโหราจารย์ที่เชี่ยวชาญที่ตนเคารพนับถือเป็นคนคำนวณฤกษ์ผานาทีให้ เมื่อได้ฤกษ์หรือถึงเวลาฤกษ์งามยามดีแล้ว พ่อแม่หรือผู้ทำพิธีจะนำเด็กออกมาวางต่อหน้าพระสงฆ์ โดยหันศีรษะเด็กไปทางทิศที่โหราจารย์กำหนด ส่วนใหญ่จะนำออกมาก่อนได้เวลาฤกษ์เล็กน้อย เพื่อให้ญาติมิตรทั้งหลายได้ชื่นชมในตัวเด็กก่อน ครั้งถึงเวลาฤกษ์ผู้ทำพิธีก็ทำการส่งสัญญาณหรือลั่นฆ้องชัย ผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นประธานในงานทำการหลั่งน้ำจากหอยสังข์รดไปบนศีรษะของเด็ก แล้วหยิบมีดโกนแตะบนศีรษะเด็กพอเป็นพิธีพร้อมทั้งอวยชัยให้พร พระสงฆ์เริ่มสวดมนต์บทชยันโต พราหมณ์ก็เป่าสังข์และไกวบัณเฑาะว์ บรรดาพิณพาทย์บรรเลงเพลงมหาฤกษ์มหาชัย ต่อจากนั้นจึงให้ทำการโกนผมไฟได้
2. พิธีพราหมณ์อาบน้ำให้เด็ก เจือน้ำพระพุทธมนต์และน้ำร้อนพออุ่นๆ ในขันหรืออ่างใหญ่ แล้วรับเด็กลงจุ่มในอ่างพอเป็นพิธี เสร็จแล้วส่งเด็กให้ผู้อุ้มแต่งตัววางลงบนเบาะ นั่งตรงหน้าบายศรี ผู้อุ้มนี้โดยมากมักจะเป็นย่าหรือยายของเด็ก ถ้าไม่มีก็เชิญผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในวงศ์ตระกูลอุ้ม
3. พิธีพราหมณ์เสกปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายจากเด็ก พราหมณ์จะเอาด้ายสายสิญจน์มาทำพิธีที่ตัวเด็กเสร็จแล้วก็จะเอาเผาไฟทิ้ง ผูกมือผูกเท้าจุณเจิมด้วยแป้งกระแจะ ใช้ช้อนเล็กๆ ตักน้ำมะพร้าวอ่อนแตะที่ปากเด็กพอเป็นพิธีว่าให้เด็กกินแล้วจึงจุดเทียนในแว่น 3 แว่น ยกขึ้นอวยชัยให้พรแก่เด็ก 3 ครั้ง แล้วจึงส่งแว่นออกไปให้พวกแขกหรือญาติพี่น้องที่มาร่วมพิธีนั้นรับต่อๆ ไปทีละแว่นๆทางซ้าย หันขวาให้เด็กเพราะถือว่าขวาเป็นมงคล
พิณพาทย์มโหรีประโคมไปตลอดจนจบการเวียนเทียนสมโภช เมื่อครบ 3 รอบแล้วก็ส่งแว่นเทียนไปให้พราหมณ์ปักไว้ในขันข้าวสารทีละแว่น จนครบ 3 แว่น แล้วก็บีบเทียนรวมกันเข้าเป็นแว่นเดียวแล้วดับไฟด้วยใบพลูซ้อนๆ กัน โบกพัดควันเทียนอันเกิดจากพระเพลิงผู้ยังชีวิตมนุษย์ให้สู่ความสวัสดิ์ ไปทางเด็กในระยะห่างๆ พอสมควร
4.เตรียมข้าวของที่ต้องใช้สำหรับพิธีนำเด็กลงเปล ได้แก่ ข้าวตอก, ข้าวเปลือก, ถั่วเขียว, งา, เมล็ดฝ้าย อย่างละกำมือ ให้ใส่ถุงแพรหรือห่อไว้ นอกจากนั้นก็ยังมี หินบด, ฟักเขียว ๑ ผล,มะพร้าวเงินและมะพร้าวทอง อย่างละ ๑ ผล (ใช้มะพร้าวทาสีทองและสีเงิน เป็นการสมมุติ) เมื่อได้ฤกษ์ลงเปล ให้หยิบถุงต่างๆ ที่จัดเตรียมไว้วางลงในเปลเด็กก่อน แล้วเอาบายศรีปากชามใส่ลงขันข้าวปักแว่นเวียนเทียน แล้วจัดเครื่องกระยาบวช ๑ สำรับ ให้บิดามารดาพร้อมหมู่วงศาคณาญาติ มานั่งล้อมกันเป็นวงโดยมีเด็กอยู่ตรงกลาง นำด้ายสายสิญจน์จากพานมาปัดข้อมือเด็ก โดยถือเคล็ดว่าได้เอาสิ่งอันไม่เป็นมงคล ตลอดจนเคราะห์และโรคภัยไข้เจ็บทั้งหลายทิ้งไปต่อจากนั้นจึงตักมะพร้าวอ่อนแตะปากเด็กพอเป็นพิธี แล้วจุดเทียนในแว่น ๓ แว่น ยกขึ้นอวยชัยให้แก่เด็ก ๓ ครั้ง แล้วทำพิธีอำนวยพรให้อยู่เย็นเป็นสุข ต่อจากนั้นก็ทำพิธีปูเปลเด็ก
5.ทำพิธีปูเปลข้าวของเครื่องใช้สำหรับทำพิธีปูเปลเด็ก ได้แก่
1.น้ำพระพุทธมนต์
2.ใบมะตูม
3.กระแจะจันทน์
4.ถั่วงา
5.แมวตัวสวยๆ ซึ่งเลี้ยงง่าย นำสายสร้อยมาสวมคอให้ดูสวยงาม
ให้นำน้ำพระพุทธมนต์พรมเปลเด็กก่อนเป็นลำดับแรก พรมพอเป็นพิธีไม่ต้องให้ถึงกับเปียกโชก แล้วนำใบมะตูมวางลงในเปล เจิมหัวนอนเด็กด้วยกระแจะจันทน์ เอาเครื่องต่างๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดงา เป็นต้น วางลงในเปล นำแมววางลงในเปลครู่หนึ่งจึงยกออก
ต่อจากนั้นจึงนำเด็กลงวางในเปล เห่กล่อมแบบการเลี้ยงของคนสมัยโบราณ เป็นอันเสร็จพิธี ในการทำพิธีโกนผมไฟนี้ เกิดจากการปลื้มปีติยินดีที่มีทายาทไว้สืบสกุล และเด็กทารกนั้นได้เลี้ยงรอดปลอดภัยจนมีอายุครบ ๑ เดือน และถือเป็นการรับขวัญเด็ก หรือสมาชิกคนใหม่ในบ้านอย่างเป็นทางการ สำหรับคนที่มีฐานะ
ธรรมดาทั่วไป อาจไม่ต้องจัดพิธีใหญ่ แค่เอาด้ายสายสิญจน์มาผูกข้อมือเป็นการรับขวัญก็ได้เช่นเดียวกัน แต่ในปัจจุบันไม่ค่อยมีกระทำกันแล้ว อันเนื่องมาจากภาวะทางเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
|