ฮก ลก ซิ่ว



ประวัติและตำนานของฮก ลก ซิ่ว

 
ฮก ลก ซิ่ว (จีนตัวย่อ: 福禄寿; จีนตัวเต็ม: 福祿壽) เป็น 3 เทพเจ้าจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นมงคล 3 ประการของจีน แห่งการอวยพร ปัจจุบันนิยมสร้างเป็นเทวรูปประดับตั้งวางอยู่ภายในบ้าน
 
คนไทยส่วนมากรวมถึงคนจีนส่วนหนึ่งก็มักเข้าใจผิด คิดว่าเทพฮก คือเทพองค์กลางที่เป็นขุนนาง แท้จริงเทพฮกคือเทพองค์ที่อุ้มเด็ก เพราะคำว่า ลก หมายถึง ยศถาบรรดาศักดิ์ จึงหมายถึงเทพองค์กลางที่เป็นขุนนาง บางทีจะถูกวาดคู่กับกวาง เพราะในภาษาจีน คำว่ากวางพ้องเสียงกับคำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์ ส่วนเทพฮกจะอุ้มเด็ก หมายถึงความสุขต่างๆในชีวิต พึงระวังการจำสับสนกัน
 
ฮก
ฮก (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ฝู (ภาษาจีนกลาง) (จีน: 福) หมายถึง โชคลาภและความมั่งคั่ง บริบูรณ์ด้วยโภคสมบัติ คือ ประกอบพร้อมด้วยเครื่องอุปโภค บริโภค แก้วแหวนเงินทอง และบริบูรณ์ด้วยบริวารสมบัติ มีบุตร ภรรยา ญาติมิตร คนใช้สอย เป็นต้น ลักษณะของฮก เป็นรูปเศรษฐี สวมหมวกมีเส้าข้างหลังสูง มีผ้าคลุมลงไปเบื้องหลัง แสดงโภคสมบัติ มือหนึ่งอุ้มเด็ก แสดงถึงบริวาร สมบัติ นิยมให้เป็นเด็กผู้ชาย เพราะหมายถึงการสืบต่อวงศ์ตระกูล มีค้างคาวเป็นสัญลักษณ์ เพราะพ้องเสียงกับคำว่า ความสุข วาสนา
มีเรื่องเล่าว่า ท่าน "เจี่ยวช้ง" เป็นพ่อค้า มหาเศรษฐี ในสมัยราชวงศ์ถัง ที่ร่ำรวยจากการค้าขายที่สุจริต และ คนในครอบครัว ลูกหลาน ล้วนแล้วแต่เป็นคนดี ไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้ใด มีเรื่องเล่าขานกันว่า บ้านพักของท่านเจี่ยวช้งนั้น ห่างจากพระราชวังถึง 20 ลี้ เพียงท่านก้าวพ้นจากเขตที่ดินของท่าน ก็เป็นเขตพระราชวัง ด้วยความที่ท่านมีทรัพย์สมบัติมาก กอปรกับท่านเป็นใจบุญ ให้ความช่วยเหลือกับทุกคนที่ทุกข์ยาก จนเป็นที่นับถือของชาวบ้าน และนับถือท่านเป็นเทพผู้นำความสุขมาให้ ในสมัยก่อน
 
ลก
ลก (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ ลู่ (ภาษาจีนกลาง) (จีน: 禄) หมายถึง บุญวาสนา อำนาจ เกียรติยศ ลักษณะของลก เป็นรูปขุนนางจีนสวมหมวก มีปีกหมวกกางออกไปสองข้าง มือถือคทายู่อี่ ซึ่งเป็นคทาแห่งความสมปรารถนา มีกวางเป็นสัญลักษณ์ เพราะพ้องเสียงกับคำว่า ยศถาบรรดาศักดิ์
มีเรื่องเล่าว่า ท่าน "ก๋วยจื่องี้" เป็นข้าราชการระดับอัครเสนาบดี (ข้าราชการระดับสูง) ที่จงรักภักดี ซื่อสัตย์ ยุติธรรม รับใช้ราชการนานหลายแผ่นดิน ความซื่อสัตย์ และ จงรักภักดีต่อแผ่นดินนั้น เป็นที่ประจักษ์ต่อ ฮ่องเต้หลายพระองค์ จึงมีราชการโองการ ให้อยู่ในตำแหน่งตลอดทั้ง 4 แผ่นดิน และได้รับมอบ ดาบหยก และ เข็มขัดหยก ให้สามารถทำการใดๆ แทนฮ่องเต้ก่อน แล้ว ค่อยทูลถวายภายหลังได้ ท่าน ก๋วยจื่องี้ เป็นข้าราชการที่อยู่ในตำแหน่ง นานที่สุดในประวัติศาสตร์จีน
 
 
ซิ่ว
ซิ่ว (ในภาษาแต้จิ๋ว) หรือ โซ่ว (ภาษาจีนกลาง) (จีน: 寿) หมายถึงอายุยืน ลักษณะของซิ่วเป็นรูปชายชราหน้าตาใจดี หนวดเครายาวสีขาว ศีรษะล้าน ส่วนหน้าผากโหนกนูนเห็นชัดเจน มือหนึ่งถือไม้เท้า อีกมือหนึ่งถือผลท้อ ซึ่งเป็นผลไม้แห่งความยั่งยืนและมักจะมีนกกระเรียนขาวอยู่ข้างกาย อันเป็นสัญลักษณ์แห่งความมีอายุยืนยาว
มีเรื่องเล่าว่า ท่าน "แผ่โจ้ว" เป็นบุคคลที่กลัวความแก่ และความตายมากที่สุด จึงรักษาสุขภาพ ร่างกาย และ จิตใจของตนเองให้มีความสุข แข็งแรง ตลอดเวลา ครอบครัวของท่านเป็นครอบครัวใหญ่ มีภรรยา และ ลูกหลานมากมาย และเป็นที่กล่าวขานกันว่า ท่านแผ่โจ้วนั้นมีอายุยืนกว่า 800 ปี มีภรรยาเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 49 คน และ บุตรหลานเสียชีวิตก่อนท่านทั้งสิ้น 154 คน
 

ความหมายลึกซึ้งและความเชื่อในการบูชาฮก ลก ซิ่ว

  1. ฮก (福) - ความสุข และความโชคดี
    การบูชาเทพเจ้าฮกแสดงถึงความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความสุขและความสมบูรณ์ เป็นการเรียกหาความสงบสุขในครอบครัวและชีวิตสมรสที่ดี

  2. ลก (禄) - ความมั่งคั่งร่ำรวย และความสำเร็จ
    การบูชาเทพเจ้าลกแสดงถึงความปรารถนาที่จะมีความมั่งคั่ง ร่ำรวย และมีความเจริญรุ่งเรืองในด้านการงานและทรัพย์สิน ผู้ที่บูชาลกเชื่อว่าจะได้รับการคุ้มครองและส่งเสริมให้มีทรัพย์สินมากมาย

  3. ซิ่ว (寿) - สุขภาพดี และอายุยืน
    การบูชาเทพเจ้าซิ่วเป็นการขอพรให้มีอายุยืนและมีสุขภาพแข็งแรง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ ผู้ที่บูชาซิ่วเชื่อว่าจะได้รับการคุ้มครองให้มีชีวิตที่ยืนยาวและเต็มไปด้วยพลังชีวิต

     

วิธีการบูชาและตำแหน่งการวางฮก ลก ซิ่วในบ้าน

  • รูปปั้นหรือภาพของฮก ลก ซิ่วมักจะถูกวางเรียงจาก ซ้ายไปขวา โดยเรียงลำดับเป็น ฮก ลก ซิ่ว ตามตำแหน่งที่เหมาะสม ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยนำโชคลาภและพลังบวกเข้าสู่บ้าน
    • ฮก (ข้างซ้าย): ความสุขและความโชคดี
    • ลก (ตรงกลาง): ความมั่งคั่งและยศศักดิ์
    • ซิ่ว (ข้างขวา): สุขภาพและอายุยืน

การบูชาฮก ลก ซิ่วไม่ได้เป็นเพียงการขอพรในเชิงวัตถุ แต่ยังสื่อถึงความปรารถนาที่จะมีชีวิตที่สมดุล ทั้งในด้านจิตใจ ครอบครัว และสุขภาพ ถือว่าเป็นการบูชาที่สะท้อนถึงหลักคิดของชีวิตที่ครบถ้วนทุกมิติ

บทสรุป ฮก ลก ซิ่ว ไม่ใช่เพียงแค่เทพเจ้าแห่งความสุข ความมั่งคั่ง และอายุยืน แต่ยังเป็นสัญลักษณ์ของชีวิตที่สมบูรณ์ครบถ้วนทั้งในด้านจิตใจ สังคม และสุขภาพ เป็นการบูชาที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนจีนที่มองเห็นคุณค่าของการดำรงชีวิตอย่างสมดุล และให้ความสำคัญกับความสุขจากภายใน การมีทรัพย์สินที่พอเพียง และการมีสุขภาพที่แข็งแรง
 
อ.อรุณวิชญ์ วงศ์จตุพัฒน์ เขียน/เรียบเรียง
๕ พฤษภาคม ๒๕๔๘

 



[ รวม Tag ทั้งหมด ]

 

 



เมนูหลัก



บทความทั่วไปเกี่ยวกับโหราศาสตร์