พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10



 
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์ไทย รัชกาลที่ 10
 
พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
พระราชสมภพ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495  เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบันของประเทศไทย
นับเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แห่งราชวงศ์จักรี
 
พระองค์เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวของพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงแต่งตั้งพระองค์เป็นสยามมกุฎราชกุมารใน พ.ศ. 2515 เวลานั้นมีพระชนม์ 20 พรรษา ครั้นรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 มีการคาดการณ์ว่า พระองค์จะทรงขึ้นครองราชย์สืบต่อทันที แต่ทรงผัดผ่อนไปก่อน เพื่อให้เวลาผู้คนไว้อาลัยพระราชบิดา กระทั่งวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2559 จึงทรงรับการอัญเชิญขึ้นครองราชย์ และทรงจัดการถวายพระเพลิงพระบรมศพพระราชบิดาในวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2560 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์จัดขึ้นในวันที่ 4–6 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 แต่รัฐบาลไทยให้นับรัชสมัยของพระองค์ย้อนหลังไปถึงวันสวรรคตของพระราชบิดา เนื่องด้วยพระชนม์ 64 พรรษาในเวลานั้น พระองค์จึงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีพระชนม์สูงที่สุดในวันครองราชย์
 
มีบันทึกว่า เมื่อรัชกาลที่ 9 กับพระบรมราชินี คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จนิวัติพระนครในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2494 นั้น ทรงหวังว่า "คงจะมีพระราชโอรสเป็นพระองค์ถัดไป" หลังจากที่มีพระราชธิดามาแล้ว ครั้นวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17:45 น. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จึงประสูติพระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระองค์มีพระเชษฐภคินี คือ ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และมีพระขนิษฐภคินีสองพระองค์ คือ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
 
ขณะพระชนมายุได้หนึ่งพรรษา รัชกาลที่ 9 โปรดให้สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์
ตั้งพระนามและถวายตามดวงพระชะตาว่า
 
สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ
บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล
อภิคุณูปการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร
กิตติสิริสมบูรณสวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
 
พระนาม "วชิราลงกรณ" นั้น กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ทรงตั้งจาก "วชิระ" อันเป็นพระนามฉายาของกรมหลวงวชิรญาณวงศ์เองและเป็นพระนามฉายาในขณะผนวชของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ผนวกกับ "อลงกรณ์" จากพระนามเดิมของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีความหมายว่า "ทรงเครื่องเพชรหรืออสนีบาต"
 
การศึกษา
เมื่อมีพระชนม์ 4 พรรษา รัชกาลที่ 9 โปรดให้เริ่มถวายพระอักษร ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 ที่โรงเรียนจิตรลดาเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2499 ขณะนั้น โรงเรียนนี้ยังตั้งอยู่ที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต ต่อมาย้ายไปตั้งในบริเวณพระราชฐาน สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต พระองค์ทรงศึกษาอยู่ที่นี่จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนคิงสมีด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกซ์ ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2509 จากนั้น ทรงศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีต แคว้นซัมเมอร์เซต ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2509 จนถึง พ.ศ. 2513 ระหว่างทรงศึกษาในประเทศอังกฤษ ทรงให้สัมภาษณ์ว่า "ทรงทำทุกอย่างด้วยพระองค์เอง ไม่ว่าจะเป็นการซักฉลองพระองค์ หรือขัดรองพระบาท โดยไม่มีบุคคลอื่นให้ความช่วยเหลือ เฉกเช่นสามัญชนทั่วไป"

จากนั้น ทรงศึกษาวิชาทหารต่อในประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาระดับเตรียมทหารที่คิงส์สกูล นครซิดนีย์ รัฐนิวเซาท์เวลส์ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2513 จนถึงเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2514 ครั้น พ.ศ. 2515 ทรงเข้าศึกษาการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา การศึกษาที่ดันทรูนนั้นแบ่งเป็น 2 ภาค คือ ภาควิชาการทหารโดยกองทัพบกออสเตรเลีย และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรีโดยมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาเมื่อ พ.ศ. 2519 ทรงได้รับถวายสัญญาบัตรจากวิทยาลัยการทหารดันทรูน และปริญญาอักษรศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาอักษรศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ 
 
เมื่อนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหาร แล้วทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อ พ.ศ. 2520 ทรงเข้าศึกษาในสาขาวิชานิติศาสตร์ รุ่นที่ 2 มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อ พ.ศ. 2525 ทรงสำเร็จการศึกษานิติศาสตรบัณฑิต (เกียรตินิยมอันดับ 2) และพ.ศ. 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร แห่งสหราชอาณาจักร
 
เมื่อมีพระชนม์ 20 พรรษา และทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 รัชกาลที่ 9 ทรงให้สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสยามมกุฏราชกุมาร มีพระราชพิธีสถาปนาในวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2515 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า
 
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช  เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ
บดินทรเทพยวรางกูร  สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒน์
วรขัตติยราชสันตติวงศ์  มหิตลพงศอดุลยเดช
จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ  สยามมกุฎราชกุมาร
 
นับเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์ที่ 3 ของไทย
พระมหากษัตริย์ราชวงศ์จักรี
Buddha Yodfa Chulaloke portrait  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
Buddha Loetla Nabhalai portrait  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย
King Nangklao  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
Rama4pic พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Chulalongkorn suit  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
Painting of King Vajiravudh as a General of the Wild Tiger Corps พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Prajadhipok portrait photograph พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
King Ananda Mahidol portrait photograph  พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร
Bhumibol Adulyadej  พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
King Rama X official พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว
 
การสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
เมื่อรัชกาลที่ 9 สวรรคตในวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว พระองค์จะได้สืบราชสมบัติต่อ และพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ยืนยันว่า พระองค์จะทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่ แต่ทรงขอผ่อนผัน เนื่องจากทรงต้องการร่วมไว้ทุกข์กับชาวไทย จนกว่าจะผ่านพระราชพิธีพระบรมศพไประยะหนึ่งก่อน พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์โดยตำแหน่งไปพลางก่อน
 
วันที่ 29 พฤศจิกายน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดประชุมวาระพิเศษตามรัฐธรรมนูญ เพื่อรับทราบการอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์  และพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เดินทางไปอัญเชิญพระองค์ขึ้นครองราชย์เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม และพระองค์ทรงรับการอัญเชิญโดยมีพระราชดำรัสอย่างเป็นทางการ แต่มีประกาศว่า ทางนิตินัยถือว่า ได้ขึ้นครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 แล้ว พระองค์ทรงให้เฉลิมพระปรมาภิไธยชั่วคราวว่า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร"
 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562
พระองค์โปรดให้ตั้งพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในวันที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ณ พระบรมมหาราชวัง มีการเฉลิมพระปรมาภิไธยตามพระสุพรรณบัฏว่า "พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณอดุลยเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว" และมีพระปฐมบรมราชโองการว่า "เราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป"
 
ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 พระองค์เสกสมรสกับพลเอกหญิง สุทิดา วชิราลงกรณ์ ณ อยุธยา
และโปรดให้สถาปนาพลเอกหญิง สุทิดา ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชินี
 

 

 
 
 
จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
 


[ รวม Tag ทั้งหมด ]

 

 



เมนูหลัก



บทความทั่วไปเกี่ยวกับโหราศาสตร์