อานิสงส์ของการกรวดน้ำ |
การกรวดน้ำ นั้น มีมาก่อนครั้งพุทธกาล เช่น พระเวสสันดรยกสองกุมาร คือ กัณหาและชาลีให้แก่ชูชก ก็ด้วยการหลั่งน้ำใส่มือชูชก ยกนางมัทรีให้แก่พระอินทร์ที่แปลงเป็นพราหมณ์ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำ คือ กรวดน้ำ แทนการยกให้ เพราะของบางอย่าง เราไม่สามารถให้ได้ด้วยมือ ก็ใช้วิธีหลั่งน้ำใส่มือ ผู้ขอ หรือกรวดน้ำลงบนแผ่นดิน เพื่ออุทิศให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว ด้วยการฝากแม่ธรณีให้ช่วยนำอานิสงส์ไปให้
|
อนึ่ง ก็เท่ากับให้แม่ธรณี เป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญกุศลของเราอีกด้วย ดังเช่น ในสมัยที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงบำเพ็ญบารมีเพื่อบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ ในวันเพ็ญ เดือน 6 ทรงตั้งสัตยาธิษฐาน ณ รัตนบัลลังก์ใต้ต้นโพธิ์ว่า แม้จะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม พระองค์ไม่ยอมลุกจากที่นั่ง จนกว่าจะตรัสรู้ ถึงแม้จะอดตายในที่นี้ก็ยอม เหล่าเทพยดาได้ยินสัตยาธิษฐาน ก็พากันชื่นชมโสมนัสยินดีปรีดาชวนกันเผ้ารอพระมหาบุรุษ เพื่อจะได้สักการบูชา หากพระองค์ได้ตรัสรู้ จนเต็มขอบฟ้าจักรวาล ฝ่ายพญามารได้ยินมหาบุรุษตั้งสัตยาธิษฐานก็สะดุ้ง คิดว่าเจ้าชายสิทธัตถะจะพ้นจากอำนาจแห่งตน เพราะการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณในวันนี้ จึงเกณฑ์หมู่เสนามารยกทัพมาเพื่อจะขัดขวางในการบำเพ็ญบารมี
โดยมีพญามารขี่ข้างนำหน้ามา เหล่าเทพยดาทั้งหลายเห็นพญามารยกทัพมาก็สะดุ้งตกใจกลัวอำนาจพญามาร พากันหนีไปก่อนที่พญามารจะมาถึง พญามารมาถึง ก็สั่งให้เหล่าเสนามารห้อมล้อมเพื่อจะประกาศศักดานุภาพของตน ให้พระมหาบุรุษสะดุ้งตกใจกลัว ครั้นเมื่อไม่เห็นพระองค์ทรงหวั่นไหว จึงสั่งให้หมู่เสนามารรุกทำร้าย พุ่งอาวุธเข้าใส่ แต่อาวุธทั้งหลายไม่อาจทำอันตรายกลับกลายเป็นบุปผามาลัยบูชาพระมหาบุรุษ เมื่อพญามารไม่อาจทำร้ายได้ จึงกล่าวว่า " ดูก่อนสิทธัตถะ บัลลังก์นี้เกิดขึ้นด้วยบุญของเรา ท่านเป็นผู้ไม่มีบุญสมควรจะนั่ง จงลุกไปเสีย " |
พระมหาบุรุษตรัสตอบว่า " ดูก่อนพญามาร บัลลังก์นี้เกิดขึ้นด้วยบุญที่เราได้บำเพ็ญมานับประมาณหามิได้ เราผู้เดียวเท่านั้นที่สมควรนั่ง " พญามารกล่าวคัดค้านว่า " ท่านกล่าวคำไม่เป็นจริง ท่านมีใครเป็นพยาน "
พระมหาบุรุษทรงดำริ " ในที่นี้มีแต่หมู่เสนามาร ไม่มีใครหาญกล้ามาเป็นพยานได้ " จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า
" ดูก่อน แม่นางธรณีเอ๋ย เธอจงมาเป็นพยานในการบำเพ็ญกุศลของอาตมาในกาลบัดนี้เถิด " แม่นางธรณีไม่อาจจะอยู่นิ่งได้ จึงแทรกปฐพีขึ้นมาปรากฏกาย ทำอัญชลีอภิวาทพระมหาบุรุษ แล้วก็ประกาศให้พญามารทราบว่า " พระมหาบุรุษเมื่อยังเป็นพระโพธิสัตว์ ได้บำเพ็ญบุญมามากมายตลอดกาล เหลือที่จะประมาณได้ แม้แต่น้ำที่หลั่งลงบนมวยผมของข้าพเจ้าก็เหลือที่จะคณานับ " ครั้นกล่าวจบ ก็เอามือปล่อยมวยผมบีบน้ำที่กรวดสะสมไว้เป็นอเนกชาติให้หลั่งไหลออกมากลายเป็นทะเลหลวง กระแสน้ำจึงซัดพัดพาเอาพญามารและหมู่เสนามาร ลอยไปจนสุดขอบฟ้าจักรวาล พญามารตกตะลึงด้วยความอัศจรรย์ใจ จนเกิดความกลัวภัยพนมมือนมัสการ เปล่งคำสรรเสริญในบุญบารมี ยอมรับความปราชัย แล้วรีบอันตรธานหนีหายไปจากที่นั้นด้วยความกลัวโดยเร็ว |
ฉะนั้น การทำบุญเราจึงมักนิยมกรวดน้ำ เพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศล ให้แก่ผู้ที่เราตั้งใจทำบุญอุทิศให้ อีกอย่างหนึ่ง ก็ใช้น้ำนั้นเป็นสื่อความหมายของสิ่งของที่เราอุทิศ การที่เอาน้ำที่กรวดแล้วใส่ภาชนะไปรดต้นไม้ ก็เปรียบเสมือนหนึ่งเราเอาสิ่งของไปไว้ในที่อันควร เพื่อไม่ให้ใครมาเหยียบย่ำสิ่งนั้นนั่นเอง และการกรวดน้ำก็นิยมที่จะกรวดในวันนั้น เพื่อกันลืม ทีนี้หากเราจะไม่กรวดน้ำ เราก็ใช้อธิษฐานอุทิศส่วนบุญ ส่วนกุศลก็ได้เหมือนกัน ซึ่งเรามักเรียกกันว่า กรวดน้ำแห้ง อุทิศด้วยใจไม่ต้องใช้น้ำ แต่ส่วนมากไม่ค่อยจะนิยม เพราะถึงจะอธิษฐานอุทิศแล้วก็ตาม เมื่อกลับถึงบ้านก็ยังนำน้ำมากรวดอยู่ การนำเรื่องการสร้างบุญทำกุศลแล้วต้องกรวดน้ำมาอธิบายให้รู้ถึงมูลเหตุที่พระพุทธองค์ทรงชนะมาร ด้วยบารมีที่พระพุทธองค์ได้ทรงบำเพ็ญเป็นอเนกชาติโดยการหลั่งน้ำ (กรวดน้ำ) ลงบนแผ่นดิน (ธรณี) ทุกครั้ง เหมือนหนึ่งให้แม่ธรณีรับรู้และเป็นสักขีพยานในการบำเพ็ญมาทุกชาติ เพื่อให้ชาวพุทธเราเข้าใจถึงจุดมุ่งหมายในการกรวดน้ำ |
กรวดน้ำอิมินา
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อุปัชฌายา คุณุตตะรา
![]()
อาจริยูปะการา จะ มาตาปิตา จะ ญาตะกา ปิยา มะมัง
สุริโย จันทิมา ราชา คุณะวันตา นะราปิ จะ
พรัหมะมารา จะ อินทา จะตุโลกะปาลา จะ เทวะตา
ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ
สัพเพ สัตตา จะ สุขี โหนตุ ปุญญานิ ปะกะตานิ เม
สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตังฯ
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ อิมินา อุททิเสนะ จะ
ขิปปาหัง สุละเภ เจวะ ตัณหุปาทานะ เฉทะนัง
เย สันตาเน หินา ธัมมา ยาวะ นิพพานะโต มะมัง
นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว
อุชุจิตตัง สะติปัญญา สัลเลโช วิริยัมหินา
มารา ละภันตุ โนกาสัง กาตุญจะ วิริเยสุ เม
พุทธาทิปะวะโร นาโถ ธัมโม นาโถ วะรุตตะโม
นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง
เต โสตตะมานุภาเวนะ มาโรกาสัง ละภันตุ มาฯ
|
ความหมายของการกรวดน้ำอิมินา
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ ด้วยบุญนี้อุทิศให้
อุปัชฌายา คุณุตตะรา อุปัชฌาย์ผู้เลิศคุณ
อาจริยูปะการา จะ มาตาปิตา และอาจารย์ผู้เกื้อหนุน
จะ ญาตะกา ปิยา มะมัง ทั้งพ่อแม่แลปวงญาติ
สุริโย จันทิมา ราชา สูรย์จันทร์และราชา
คุณะวันตา นะราปิ จะ ผู้ทรงคุณหรือสูงชาติ
พรัหมะมารา จะ อินทา จะ พรหมมารและอินทราช
โลกะปาลา จะ เทวะตา ทั้งทวยเทพและโลกบาล
ยะโม มิตตา มะนุสสา จะ ยมราชมนุษย์มิตร
มัชฌัตตา เวริกาปิ จะ ผู้เป็นกลาง ผู้จ้องผลาญ
สัพเพ สัตตา จะ สุขี โหนตุ ขอให้เป็นสุขศานติ์ทุกทั่วหน้าอย่าทุกข์ทน
ปุญญานิ ปะกะตานิ เม บุญผองที่ข้าฯ ทำจงช่วยอำนวยศุภผล
สุขัง จะ ติวิธัง เทนตุ ให้สุขสามอย่างล้น
ขิปปัง ปาเปถะ โว มะตังฯ ให้ลุถึงนิพพานพลัน
อิมินา ปุญญะกัมเมนะ ด้วยบุญนี้ที่เราทำ
อิมินา อุททิเสนะ จะ และอุทิศให้ปวงสัตว์
ขิปปาหัง สุละเภ เจวะ เราพลันได้ซึ่งการตัด
ตัณหุปาทานะ เฉทะนัง ตัวตัณหาอุปาทาน
เย สันตาเน หินา ธัมมา สิ่งชั่วในดวงใจ
ยาวะ นิพพานะโต มะมัง กว่าเราจะถึงนิพพาน
นัสสันตุ สัพพะทา เยวะ มลานสิ้นจากสันดาน
ยัตถะ ชาโต ภะเว ภะเว ทุกๆภพที่เราเกิด
อุชุจิตตัง สะติปัญญา มีจิตตรงและสติทั้งปัญญาอันประเสริฐ
สัลเลโข วิริยัมหินา พร้อมทั้งความเพียรเลิศเป็นเครื่องขูดกิเลสหาย
มารา ละภันตุ โนกาสัง โอกาสอย่าพึงมีแก่หมู่มารสิ้นทั้งหลาย
กาตุญจะ วิริเยสุ เม เป็นช่องประทุษร้ายทำลายล้างความเพียรจม
พุทธาทิปะวะโร นาโถ พระพุทธผู้บวรนาถ
ธัมโม นาโถ วะรุตตะโม พระธรรมที่พึ่งอุดม
นาโถ ปัจเจกะพุทโธ จะ พระปัจเจกพุทธสม
สังโฆ นาโถตตะโร มะมัง พบพระสงฆ์ที่พึ่งผยอง
เต โสตตะมานุภาเวนะ ด้วยอานุภาพนั้น
มาโรกาสัง ละภันตุ มาฯ อย่าเปิดโอกาสให้แก่มารทั้งหลายเทอญ
|
ขอขอบคุณเพจ วัดศรีประทุมทอง |