เทศกาลคเณศจตุรถี



 

เทศกาลคเณศจตุรถี गणेश चतुर्थी 

Ganesh Chaturthi เทศกาลแห่งการบูชาพระพิฆเนศ

เทศกาลคเณศจตุรถี ถือเป็นหนึ่งในเทศกาลที่ยิ่งใหญ่และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จและความเป็นมงคล โดยจะจัดขึ้นในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจันทรคติฮินดู ซึ่งเชื่อว่าเป็น วันกำเนิดของพระพิฆเนศ ตามความเชื่อ พระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกเพื่อประทานพรอันประเสริฐแก่ผู้ศรัทธา

เทศกาลนี้จะมีการสร้าง เทวรูปพระพิฆเนศ ขนาดใหญ่และเล็กตามความเหมาะสม เทวรูปเหล่านี้จะได้รับการประดิษฐานและบูชาตามบ้านเรือน วัดวาอาราม และสถานที่สำคัญต่างๆ จากนั้นจะมีการแห่เทวรูปไปทั่วเมืองเพื่อแสดงความศรัทธาอย่างยิ่งใหญ่ เสียงกลอง การขับร้องบทสวด และการเต้นรำประสานกันไปตลอดทาง โดยขบวนแห่จะมุ่งสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี หรือทะเล เพื่อนำเทวรูปไปทำพิธีลอยน้ำหรือที่เรียกว่า "Visarjan" เพื่อส่งเสด็จกลับสู่สรวงสวรรค์ เป็นสัญลักษณ์ของการปลดปล่อยความทุกข์และการเริ่มต้นชีวิตใหม่
 

พิธีกรรมและการเตรียมการสำหรับเทศกาลคเณศจตุรถี

ก่อนถึงวันคเณศจตุรถี ผู้ศรัทธาควรเตรียมตัวและสถานที่สำหรับบูชาอย่างละเอียด ดังนี้:

  1. ทำความสะอาดหิ้งพระและห้องบูชา เพื่อเป็นการเตรียมสถานที่รับเสด็จพระพิฆเนศ
  2. ตกแต่งสถานที่บูชา ด้วยผ้า ธง มาลัยดอกไม้ หรือสิ่งที่สวยงามตามความเหมาะสม
  3. จัดโต๊ะหรืออาสนะสำหรับประดิษฐานเทวรูป ปูด้วยผ้าสีแดงหรือสีส้ม ซึ่งเป็นสีมงคลและเป็นสัญลักษณ์ของพลังงาน
  4. อัญเชิญเทวรูปพระพิฆเนศ ประจำบ้านมาประดิษฐานที่โต๊ะบูชา ควรเลือกเทวรูปที่ทำจากโลหะหรือหิน และนิยมปางนั่งเพราะถือว่าพระองค์จะประทับอยู่ในบ้านเป็นเวลา 10 วัน
  5. สรงน้ำเทวรูป ด้วยน้ำสะอาดหรือน้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น:
    • น้ำเปล่า, น้ำปัญจะมรัตน์ (นม, น้ำนมเปรี้ยว, น้ำผึ้ง, น้ำมันเนย, น้ำตาล)
    • น้ำหอม, น้ำผสมกลีบดอกไม้, น้ำผสมขมิ้นและกำยาน
  6. ประดับเครื่องบูชา เช่น ผ้า เครื่องประดับ ดอกไม้สด และมาลัย หากไม่สามารถตกแต่งที่องค์เทวรูปได้ ให้จัดวางไว้ในพานด้านหน้าแทน
  7. ถวายธูปกำยานและประทีป เพื่อแสดงความเคารพ
  8. ถวายอาหารบูชา เช่น นม ขนมหวาน ผลไม้ หรือ "โมทกะ" ขนมโปรดของพระพิฆเนศ
  9. สวดมนต์บูชา โดยกล่าวคำภาวนา “โอม ศรี คเณศายะ นะมะหะ” จำนวน 108 จบ
  10. ทำสมาธิและขอพร น้อมจิตอธิษฐานถึงองค์พระพิฆเนศ เพื่อขอพรความสำเร็จและความเป็นมงคล
     

พิธีบูชาต่อเนื่องและวันสุดท้าย

เทศกาลนี้นิยมทำการบูชาเป็นเวลา 3, 5, 7, 9 หรือ 11 วัน ตามความสะดวกของแต่ละบ้าน

  • ในวันสุดท้าย จะทำการสรงน้ำเทวรูปอีกครั้ง ก่อนอัญเชิญกลับขึ้นหิ้งพระ
  • ตามธรรมเนียมในประเทศอินเดีย เทวรูปพระพิฆเนศจะถูกปั้นขึ้นใหม่สำหรับเทศกาลนี้โดยเฉพาะ หลังเสร็จสิ้นพิธีบูชา จะมีการนำเทวรูปไปทำพิธี Visarjan ลอยลงแม่น้ำหรือทะเล เพื่อแสดงถึงการส่งเสด็จพระองค์กลับสู่สรวงสวรรค์
     

ความสำคัญของเทศกาลคเณศจตุรถี

เทศกาลนี้เป็นมากกว่าการเฉลิมฉลอง แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการรวมใจของผู้ศรัทธา เป็นการแสดงออกถึงความรัก ความเคารพบูชาต่อพระพิฆเนศ เทพผู้ขจัดอุปสรรคและนำพาความสำเร็จมาสู่ชีวิต

นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสในการ ทำความดี สร้างบุญกุศล และแสดงถึงความอ่อนน้อมถ่อมตนผ่านการส่งเทวรูปกลับคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งเป็นการสื่อถึง "การปล่อยวาง" และการเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่มีความสุขและความเจริญรุ่งเรือง
 

“โอม ศานติ ศานติ ศานติ”
ขอพรแห่งพระพิฆเนศนำพาความสำเร็จและความเป็นสิริมงคลมาสู่คุณและครอบครัวตลอดไปครับ


 

 
 
 


[ รวม Tag ทั้งหมด ]

 

 



เมนูหลัก



บทความทั่วไปเกี่ยวกับโหราศาสตร์