พุทธชัยมงคลคาถา(พาหุง)

 

พุทธชัยมงคลคาถา 
(สวดพาหุง)

 

คำแปล "พาหุงมหากา" หรือ "พุทธชัยมงคลคาถา" มีอยู่ ๘ บท และมีความมุ่งหมายแตกต่างกันทั้งแปดบท กล่าวคือ

บทที่ ๑ สำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ 
บทที่ ๒ สำหรับเอาชนะใจคนที่กระด้างกระเดื่องเป็นปฏิปักษ์ 
บทที่ ๓ สำหรับเอาชนะสัตว์ร้ายหรือคู่ต่อสู้ 
บทที่ ๔ สำหรับเอาชนะโจร 
บทที่ ๕ สำหรับเอาชนะการแกล้ง ใส่ร้ายกล่าวโทษหรือคดีความ 
บทที่ ๖ สำหรับเอาชนะการโต้ตอบ 
บทที่ ๗ สำหรับเอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย 
บทที่ ๘ สำหรับเอาชนะทิฏฐิมานะของคน

เราจะเห็นได้ว่า ของดีวิเศษอยู่ในนี้ และถ้าพูดถึงการที่จะเอาชนะหรือการแสวงหาความมีชัย ก็ดูเหมือนจะไม่มีอะไร
นอกเหนือไปจาก ๘ ประการที่กล่าวข้างต้น 
ก่อนที่จะนำเอาตัวคาถาบทสวดมนต์และคำแปลมาไว้ให้จำจะต้องทำความเข้าใจคำอธิบายบทต่างๆ 
ไว้พอสมควรก่อน เพราะความในคาถาเองเข้าใจยาก ถึงจะแปลออกมาก็ยังเข้าใจยากอยู่นั่นเอง เมื่อเราไม่เข้าใจ
เราอาจจะไม่เกิดความเลื่อมใส จึงควรจะหาทางทำความเข้าใจกันให้แจ่มแจ้งไว้ก่อน

ในบทที่ ๑. เป็นเรื่องผจญมาร ซึ่งมีเรื่องว่าพระยามารยกพลใหญ่หลวงมา พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถเอาชนะได้ 
จึงถือเป็นบทสำหรับเอาชนะศัตรูหมู่มาก เช่น ในการสู้รบ 
คำแปล- พระยามารผู้นิรมิตแขนได้ตั้งพัน ถืออาวุธครบมือ ขี่ช้างชื่อ ครีเมขละ พร้อมด้วยเสนามารโห่ร้องมา
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะมารได้ ด้วยทานบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๒. เรื่องเล่าว่า มียักษ์ตนหนึ่ง ชื่ออาฬะวกะ เป็นผู้มีจิตกระด้างและมีกำลังยิ่งกว่าพระยามาร 
พยายามมาใช้กำลังทำร้ายพระองค์อยู่จนตลอดรุ่ง ก็ทรงทรมานยักษ์ตนนี้ให้พ่ายแพ้ไปได้
จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะปฏิปักษ์หรือคู่ต่อสู้ 
คำแปล- อาฬะวกะยักษ์ผู้มีจิตกระด้าง ปราศจากความยับยั้ง มีฤทธิ์ใหญ่ยิ่งกว่าพระยามาร
เข้ามาประทุษร้ายอยู่ตลอดรุ่ง องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยขันติบารมี ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๓. มีเรื่องว่าเมื่อพระเทวทัตทรยศต่อพระพุทธเจ้า ได้จัดการให้คนปล่อยช้างสาร ที่กำลังตกมันชื่อนาฬาคีรี
เพื่อมาทำร้ายพระพุทธเจ้า แต่เมื่อช้างมาถึงก็ไม่ทำร้าย จึงถือเป็นบทที่เอาชนะสัตว์ร้าย 
คำแปล- ช้างตัวประเสริฐ ชื่อนาฬาคีรี เป็นช้างเมามัน โหดร้ายเหมือนไฟไหม้ป่า มีกำลังเหมือนจักราวุธ และสายฟ้า 
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยพระเมตตาบารมีด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๔. เป็นเรื่องขององคุลีมาล ซึ่งเรารู้กันแพร่หลาย คือ องคุลีมาลนั้นอาจารย์บอกไว้ว่า
ถ้าฆ่าคนและตัดนิ้วมือมาร้อยเป็นสร้อยคอ ให้ได้ครบพัน ก็จะมีฤทธิ์เดชยิ่งใหญ่ 
องคุลีมาลฆ่าคนและตัดนิ้วมือได้ ๙๙๙ เหลืออีกนิ้วเดียวจะครบพัน ก็มาพบพระพุทธเจ้า
พระพุทธเจ้าทรงสามารถเอาชนะถึงกับองคุลีมาลเลิกเป็นโจรและยอมเข้ามาบวช กลายเป็นสาวกองค์สำคัญองค์หนึ่ง
จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะโจรผู้ร้าย 
คำแปล- โจร ชื่อ องคุลีมาล มีฝีมือเก่งกล้า ถือดาบเงื้อวิ่งไล่พระองค์ไปตลอดทาง ๓ โยชน์ 
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยการกระทำปาฏิหาริย์ ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๕. หญิงคนหนึ่งมีนามว่า จิญจมาณวิกา ใส่ร้ายพระพุทธเจ้า โดยเอาไม้กลมๆ 
ใส่เข้าที่ท้องแล้วก็ไปเที่ยวป่าวข่าวให้เล่าลือว่าตั้งครรภ์กับพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ให้ความจริงปรากฏแก่คนทั้งหลายว่าเป็นเรื่องกล่าวร้ายใส่โทษพระองค์โดยแท้ 
จึงถือเป็นบทที่เอาชนะคดีความหรือการกล่าวร้ายใส่โทษ 
คำแปล- นางจิญจมาณวิกาใช้ไม้มีสัณฐานกลมใส่ที่ท้อง ทำอาการประหนึ่งว่ามีครรภ์ เพื่อกล่าวร้ายพระพุทธเจ้า
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยวิธีสงบ ระงับพระทัยในท่ามกลางหมู่คน ด้วยเดชะอันนี้ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๖. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะสัจจะกะนิครนถ์ ซึ่งเป็นคนเจ้าโวหาร เข้ามาโต้ตอบกับพระพุทธเจ้า
จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะในการโต้ตอบ 
คำแปล- สัจจะกะนิครนถ์ ผู้มีนิสัยละทิ้งความสัตย์ใฝ่ใจจะยกย่องถ้อยคำของตนให้สูงประหนึ่งว่ายกธงเป็นผู้มืดมัวเมา
องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ ด้วยรู้นิสัยแล้วตรัสเทศนาด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๗. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้า ให้พระโมคคัลลาน์ อัครมหาสาวกไปต่อสู้เอาชนะพระยานาคชื่อ นันโทปนันทะ 
ผู้มีเล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้มากหลาย จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะเล่ห์เหลี่ยมกุศโลบาย 
คำแปล- องค์พระจอมมุนี ได้โปรดให้พระโมคคัลลาน์เถระ นิรมิตกายเป็นนาคราช ไปทรมานพระยานาคชื่อ 
นันโทปนันทะ ผู้มีฤทธิ์มากให้พ่ายแพ้ด้วยวิธีอันเป็นอุปเท่ห์แห่งฤทธิ์ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

ในบทที่ ๘. เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าทรงเอาชนะ ผกาพรหม ผู้มีทิฏฐิแรงกล้าสำคัญว่าตนเป็นผู้ที่มีความสำคัญที่สุด แต่พระพุทธเจ้าก็ทรงสามารถทำให้ผกาพรหมยอมละทิ้งทิฏฐิมานะ และยอมว่าพระพุทธเจ้าสูงกว่า 
จึงถือเป็นบทที่ใช้เอาชนะทิฏฐิมานะของตน 
คำแปล- พรหม ผู้มีนามว่า ท้าวผกา มีฤทธิ์และสำคัญตน ว่าเป็นผู้รุ่งเรืองด้วยคุณอันบริสุทธิ์
มีทิฏฐิที่ถือผิดรัดรึงอยู่อย่างแน่นแฟ้น องค์พระจอมมุนีก็เอาชนะได้ด้วยวิธีเทศนาญาณ ด้วยเดชะอันนี้ ขอชัยมงคลจงมีแก่เรา

 
 

 

พาหุง สะหัสสะมะภินิมมิตะสาวุธันตัง 
ครีเมขะลัง อุทิตะโฆระสะเสนะมารัง 
ทานาทิธัมมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนี ได้เอาชนะพระยามารผู้เนรมิตแขนมากตั้งพัน ถืออาวุธครบทุกมือ ขี่ช้าง ครีเมขละ มาพร้อมกับเหล่าเสนามารซึ่งโห่ร้องกึกก้อง ด้วยวิธีอธิษฐานถึงทานบารมี เป็นต้น) 

ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ) 

มาราติเรกะมะภิยุชฌิตะสัพพะรัตติง  
โฆรัมปะนาฬะวะกะมักขะมะถัทธะยักขัง 
ขันตีสุทันตะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

(อนึ่ง พระจอมมุนี ได้เอาชนะยักษ์ชื่อ อาฬวกะ ผู้มีจิตหยาบกระด้าง ผู้ไม่มีความอดทน 
มีความพิลึกน่ากลัวกว่าพระยามาร ซึ่งได้เข้ามาต่อสู้อย่างยิ่งยวดจนตลอดคืนยันรุ่ง 
ด้วยวิธีทรมานอันดี คือขันติความอดทน,) 


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ) 

นาฬาคิริง คะชะวะรัง อะติมัตตะภูตัง 
ทาวัคคิจักกะมะสะนีวะ สุทารุณันตัง 
เมตตัมพุเสกะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนี ได้เอาชนะช้างตัวประเสริฐชื่อ นาฬาคิรี ที่เมายิ่งนัก และแสนจะดุร้าย 
ประดุจ ไฟป่าและจักราวุธและสายฟ้า ด้วยวิธีรดลงด้วยน้ำคือ ความมีพระทัยเมตตา)


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิดฯ) 

อุกขิตตะขัคคะมะติหัตถะ สุทารุณันตัง 
ธาวันติโยชะนะปะถังคุลิมาละวันตัง 
อิทธีภิสังขะตะมะโน ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนี ทรงคิดจะแสดงฤทธิ์ปาฏิหารย์ จึงได้เอาชนะโจรชื่อ องคุลิ-มาล ผู้แสนจะดุร้าย 
มีฝีมือ ถือดาบวิ่งไล่พระองค์ไปสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์)


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ) 

กัตวานะ กัฏฐะมุทะรัง อิวะ คัพภินียา 
จิญจายะ ทุฏฐะวะจะนัง ชะนะกายะมัชเฌ 
สันเตนะ โสมะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนี ได้เอาชนะคำกล่าวใส่ร้ายของ นางจิญจมาณวิกา ซึ่งทำอาการเหมือนดั่งมีครรภ์
เพราะเอาท่อนไม้กลมผูกไว้ที่หน้าท้อง ด้วยวิธีทรงสมาธิอันงาม 
คือความกระทำพระทัยให้ตั้งมั่นนิ่งเฉย ในท่ามกลางหมู่ชน)


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ) 

สัจจัง วิหายะ มะติสัจจะกะวาทะเกตุง 
วาทาภิโรปิตะมะนัง อะติอันธะภูตัง 
ปัญญาปะทีปะชะลิโต ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนีผู้รุ่งเรืองด้วยแสงสว่างคือปัญญา ได้เอาชนะ สัจจกะนิครนถ์ ผู้มีความคิดมุ่งหมาย
ในอันจะละทิ้งความสัตย์ มีใจคิดจะยกถ้อยคำของตนให้สูงประดุจยกธง และมีใจมืดมนยิ่งนัก 
ด้วยการแสดงเทศนาให้ถูกใจ)


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ) 

นันโทปะนันทะภุชะคัง วิพุธัง มะหิทธิง 
ปุตเตนะ เถระภุชะเคนะ ทะมาปะยันโต 
อิทธูปะเทสะวิธินา ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนี ได้เอาชนะพญานาคราชชื่อ นันโทปนันทะ ผู้มีความรู้ผิดมีฤทธิ์มาก 
ด้วยวิธีบอกอุบายให้พระโมคคัลลานเถระพุทธชิโนรส แสดงฤทธิ์เนรมิตกายเป็นนาคราช 
ไปทรมานพญานาค ชื่อ นันโทปนันทะนั้น)


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ) 

ทุคคาหะทิฏฐิภุชะเคนะ สุทัฏฐะหัตถัง 
พรัหมัง วิสุทธิชุติมิทธิพะกาภิธานัง 
ญาณาคะเทนะ วิธินา ชิตะวา มุนินโท

(พระจอมมุนี ได้เอาชนะพระพรหมผู้มีนามว่า ท้าวพกาพรหม ผู้มีฤทธิ์ คิดว่าตนเป็นผู้รุ่งเรือง 
ด้วยคุณอันบริสุทธิ์ ผู้ถูกพญานาครัดมือไว้แน่น เพราะมีจิตคิดถือเอาความเห็นผิด ด้วยวิธีวางยาคือทรงแสดงเทศนาให้ถูกใจ) 


ตันเตชะสา ภะวะตุ เต ชะยะมังคะลานิ ฯ 

(ขอชัยมงคลทั้งหลายจงมีแก่ท่าน ด้วยเดชแห่งพระพุทธชัยมงคลนั้นเถิด ฯ) 

เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา 
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเต มะตันที 
หิตวานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ 
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญฯ 

(บุคคลใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดและระลึกถึงพระพุทธชัยมงคล 
๘ คาถาเหล่านี้ทุก ๆ วัน บุคคลนั้นจะพึงละความจัญไรอันตรายทั้งหลายทุกอย่างเสียได้ 
และเข้าถึงความหลุดพ้นคือ พระนิพพานอันบรมสุขแล)