โหราศาสตร์เป็นวิชาพยากรณ์ ที่เนื่องมาจากอำนาจของดวงดาวนพเคราะห์ต่างๆ ที่โคจรอยู่รอบจักรราศี เป็นวิชาที่มีหลักฐานและเหตุผลเป็นวิทยาการที่นับว่าทันสมัยอยู่ตลอดไป และเป็นวิชาที่คงทนถาวรตลอดกาลคู่ไปกับโลก เพราะเป็นเรื่องราวของวิชาที่เกี่ยวกับดวงดาวและโลกมนุษย์ กล่าวถึงอำนาจของดาวที่มีต่อสรรพสิ่งทั้งหลายในโลก เป็นวิชาการทางนามและรูปแสดงกาลเวลาความส่องสว่าง ความรุ่งโรจน์ ความร้อน ความดึงดูด และพลังงานที่มีต่อพฤติกรรมของคนเราด้วย
วิชาโหราศาสตร์ จึงเป็นวิชาที่เกี่ยวกับศาสตร์อันลึกซึ้งเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งและอาจนับเนื่องอยู่ในไสยศาสตร์ เป็นวิชาที่ลึกลับอยู่คู่กับดาราศาสตร์ซึ่งเป็นวิชาคำนวณ วิถีโคจรและขนาดน้ำหนัก ระยะ ฯลฯ ของดวงดาวในนภากาศ วิชานี้มีมาแต่โบราณสมัย
โหราศาสตร์เกิดขึ้น ณ ที่ใด และใครคิดวิชานี้ขึ้นได้
ศาสตราจารย์คนแรกที่คิดวิชานี้ขึ้นได้นั้นไม่มีใครรู้จัก เพราะนานเกินควรแก่การคาดคะเน แต่เชื่อว่าเกิดขึ้นในทวีปอาเซียแห่งหนึ่งแห่งใดก่อนเป็นเวลา 5000 ปีมาแล้ว แพร่หลายไปตามประเทศน้อยใหญ่เช่น ไอยคุปต์ กัลเดีย เปอร์เซีย ธิเบธ จีน ญี่ปุ่น พม่า มอญ เขมร ไทย ฯลฯ
โหราศาสตร์เจริญรุ่งเรืองมากในแถบบิโลเนีย สมัยกัลเดียครอบครอง ที่ปรากฏว่าเป็นผู้แบ่งจักรวาลออกเป็น 12 ราศีนั้น สมัยนั้นก็ยังกล่าวว่าอาจารย์เดิมเป็นเทวดาก่อนท่อนบนเป็นมนุษย์ท่อนล่างเป็นปลานำคัมภีร์ดาวมาให้ (น่าจะเป็นพวกเสมไมต์หรือกุสไสท์ผู้รู้วิชาดาวมาทางเรือ กล่าวกันว่าขึ้นที่อ่าวเปอร์เซียเป็นครูคนแรกที่สอนวิชาดาวให้กับพวกกัลเดีย)
ชาวกรีกโบราณเป็นผู้นำโหราศาสตร์และดาราศาสตร์จากทวีปอาเซียไปแพร่หลายในทวีปยุโรปอีกต่อหนึ่ง
โหราศาสตร์เข้าสู่ประเทศไทย
ต่อมาเมื่อพระเจ้าอโศกราชมีแสนยานุภาพปราบปรามอินเดียภาคใต้ พ.ศ. 200 ปีเศษนั้น กระทำให้ชาวอินเดียภาคใต้และพราหมณ์พาพระเวทย์หนีมาพึ่งอาณาจักรเขมรแล้ว และต่อมาไทยได้อพยพมาจากประเทศจีนมาตั้งภูมิลำเนาอยู่ในประเทศสยาม ก็ได้รับการศึกษาวิชาโหรพร้อมกับลัทธิทางศาสนาและพิธีพราหมณ์ด้วย อันมีพระโสณะเถระและพระอุตระเถระมาเผยแผ่พระพุทธศาสนานั้นเองครั้งสมัยกรุงสุโขทัยและกรุงศรีอยุธยา ก็ยกย่องพราหมณาจารย์ขึ้นเป็นมหาราชครู ฉะนั้นจึงมีพราหมณ์ข้าราชครูกระทำพิธีการมงคลต่างๆ
แต่เมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยาถูกไฟเผาผลาญจนสิ้นต่อมาสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระโหราจารย์ได้รวบรวมกันขึ้นแต่คงจะอยู่ในราชสำนักเท่านั้น ประชาชนบุคคลภายนอกคงไม่มีตำราครบบริบูรณ์ นอกจากพวกท่านกรมโหรเท่านั้น หรือพระผู้ใหญ่ในยุคนั้นๆ และพระผู้ใหญ่ยุคนั้นต้องเป็นผู้มีปรีชาเฉลียวฉลาดจริงๆ ด้วยและพวกกรมโหรต้องไปมาหาสู่เสมอ การทำพิธีต่างๆ ตามลัทธิพราหมณ์ และกรมโหรได้เลิกเสียเมื่อเร็วๆ นี้
ส่วนวิชาโหราศาสตร์ก็ยิ่งยังมีผู้สนใจอยู่ ยังหาได้เลิกเสียเหมือนพิธีต่างๆ เหล่านั้นไม่ ในประเทศไทยยังมีผู้สนใจในวิชานี้อยู่มากและอาจจะมีทวียิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกหลายสิบเท่าทวีคูณ แต่ยังมีผู้ที่ยังเห็นการดูทางชาตาเป็นการเชื่ออย่างงมงายพ้นสมัย แต่ไม่ช้าหรอกคนที่คิดเช่นนั้นก็ต้องหันมาหาอาจารย์ดูดวงชาตาราศีของตนเองจนได้
โหราศาสตร์เป็นประโยชน์ที่สุดในโลก
โหราศาสตร์เป็นวิชาที่มีประโยชน์ที่สุดในโลกวิชาหนึ่ง และจะไม่มีเวลาเสื่อมสูญเลย เพราะเป็นตำราทำนายโชคชาตาว่าโชคจะดีหรือร้ายประการใด มีหลักเกณฑ์ที่ใช้คำนวณตามความดึงดูดของกระแสแห่งดวงดาวนพเคราะห์ ซึ่งผิดกับตำราหมอดูชนิดอื่นๆ และอาจพิสูจน์ได้จริง ดังเช่นอาจทายจากตำราว่าจะมี สุริยุปราคา และจันทรุปราคาได้ในวันเดือนปีนั้นๆ และเวลานั้นไว้ก่อนและได้เป็นจริงตามที่คาดไว้ไม่ผิดเช่นนี้เป็นต้น และอาจบอกได้ว่าปีนั้นปีนี้ฝนน้อย ฝนมากแผ่นดินไหวเหล่านี้ ยิ่งเกี่ยวกับฤกษ์และยามในการกระทำพิธีก่อร่างต่างๆ ซึ่งผลทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ลงความเห็นว่าใช้ได้ดีทีเดียว เรื่องนี้คือบทกลับของโหราศาสตร์นั่นเอง เมื่อรู้ว่าดวงดาวต่างๆ จะให้คุณ ให้โทษ ณ จุดใดเราก็หลีกเลี่ยงที่การก่อร่างสร้างสรรค์แต่ในจุดที่ให้คุณเท่านั้น มนุษย์เราเลือกเวลาเกิดไม่ได้ จะดีชั่ว จึงมีคำกล่าวว่าแล้วแต่กรรมปางก่อน จึงนับว่ามนุษย์เริ่มรู้จักนำโหราศาสตร์ไปใช้ให้เป็นประโยชน์บ้างแล้วในอนาคต และโหราศาสตร์ยังอาจให้ผลประโยชน์ต่อไปอีก เช่น
-
ทำให้เห็นพื้นความสามารถ นิสัย สติปัญญา ของเจ้าชาตาทั้งคราวดีและคราวร้ายในชีวิต
-
ใช้ประกอบกับการสอบสวนคดีต่างๆ
-
ใช้ประกอบในการวินิจฉัยโรคและสุขภาพ
-
ใช้ประกอบในการสมาคมระหว่าบุคคลทั้งสองเพศ
-
ใช้ในการพิจารณานิสัยใจคอของคนภายในใต้บังคับบัญชา เหมาะสำหรับการปกครองและแก้ไข
-
ใช้พยากรณ์ดินฟ้าอากาศ โดยอาศัยโหราศาสตร์กับอุตุนิยมศาสตร์
-
ทำให้รู้ข้างหน้าว่าจะมีหรือจน จะเรียนอะไรดี จะทำงานอะไรดี คู่ครองเป็นคนอย่างไร อยู่ที่ไหนฯ
ดังกล่าวมานี้โหราศาสตร์ได้ช่วยร่วมมือ ย่อมให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ปัญหาอยู่ที่การปรับปรุงโหราศาสตร์ให้ทันสมัยขึ้นเท่านั้น
ฉะนั้นโหราศาสตร์จึงมีคุณประโยชน์มาก เป็นส่วนหนึ่งแห่งอนาคตเพื่อเตรียมพร้อมให้ทันท่วงทีที่จะรับเหตุการณ์ภายหน้า ได้เปรียบกว่าที่จะคิดแก้ไขในปัจจุบัน การรู้การภายหน้าจากโหราศาสตร์จึงมีค่าอันใหญ่ยิ่ง
โหราศาสตร์ตกมาถึงมือประชาชนเมื่อใด
โหราศาสตร์เป็นวิชาละเอียดสับสน จะต้องใช้การสังเกตพิจารณากันจริงๆ มิใช่เห็นตำราแล้วก็เข้าใจทันที เพราะภาษาของตำราโหราศาสตร์นั้นยากมาก และกฎเกณฑ์ก็มีมากสับสน ไม่มีโรงเรียนเรียนกัน คำสอนก็เป็นคำเฉพาะบ้าง คำอรรถบ้าง คำโคลงบ้าง ฯ ซึ่งหาข้อความอ่านง่ายๆ อ่านแล้วเข้าใจเลยทีเดียวไม่มี
วิชาโหราศาสตร์นี้ เดิมมีอยู่แต่เฉพาะพราหมณ์ ซึ่งเป็นโหรประจำพระองค์พระเจ้าแผ่นดิน หรือผู้ครองนครเท่านั้น หาใช่มีอยู่สำหรับบุคลทั่วไปดังปรากฏอยู่ ณ บัดนี้ไม่ และพยากรณ์ของโหรสมัยโบราณก็พยากรณ์แก่ผู้ที่ทราบเวลาเกิดแน่นอนเท่านั้น
วิชาโหราศาสตร์พึ่งตกมาถึงเมื่อประชาชนทั่วๆ ไป เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปิดหอพระสมุดแห่งชาติขึ้น และผู้ที่มีคัมภีร์หรือตำราต่างๆ ก็นำมามอบให้แก่หอพระสมุด หอพระสมุดก็เปิดโอกาสให้แก่ประชาชนเข้ายืมอ่านและคัดลอกตำรับตำราต่างๆ ได้ ด้วยเหตุนี้ วิชาโหราศาสตร์จึงออกไปสู่ประชาชนทั่วๆ ไป แต่ก็ลุ่มๆ ดอนๆ เนื่องจากวิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาละเอียดอ่อน สับสนมีคำยากมาก มีผู้เรียบเรียงรวบรวมตำราขึ้นมาก็มากเล่ม และราคาแพง
สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ มีผู้ครองตำแหน่งโหราธิบดี 6 ท่านมีรายงานดังนี้
1. พระยาโหราธิบดี (ชื่ออิ่ม)
2. พระยาโหราธิบดี (ชื่อคำ)
3. พระยาโหราธิบดี (ชื่อบัว)
4. พระยาโหราธิบดี (ชื่อเถื่อน)
5. พระยาโหราธิบดี (ชื่อชุ่ม)
6. พระยาโหราธิบดี (ชื่อแหยม)
ผู้ครองตำแหน่งโหราธิบดีทั้ง 6 ท่านหามีผู้สืบตระกูลติดต่อกันไม่ ตัวอย่างหาผู้สืบตระกูลติดต่อกันไม่ได้ คือในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ศรีปราชญ์เป็นบุตรพระยาโหราธิบดี ตามประวัติศรีปราชญ์นี้มีปฏิภาณดีเลิศกว่าคนในสมัยนั้น แต่ศรีปราชญ์ก็ไม่ได้ครองตำแหน่งโหราธิบดี ด้วยอำนาจโชคชาตาของมนุษย์ย่อมอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ดูแต่ศรีปราชญ์เถิด แม้ทั้งที่ได้รับพระราชทานพรของสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้วก็ยังคุ้มไม่ได้ ดังที่พระยาโหราธิบดีพยากรณ์ไว้แต่เยาว์ว่าจะถูกประหารด้วยคมหอกคมดาบ
โหรกับหมอดูต่างกันหรือไม่ อย่างไร
-
โหร คือ ผู้เรียนวิชาโหราศาสตร์ ที่กล่าวถึงอำนาจของดาวที่มีอิทธิพลต่อโลกมนุษย์ โหรเป็นผู้รู้กาลเวลาที่จะเกิดเหตุการณ์ดีร้ายแก่สรรพสิ่งทั้งหลายในจักรวาลฟ้าครอบ รวมทั้งชีวิตมนุษย์ด้วย
-
หมอดู คือผู้ที่จะบอกโชคดีหรือเคราะห์ร้ายแก่ท่าน วิชาหมอดูที่ใช้อยู่ทั่วไป คือเลข 7 ตัว, เลข 12 ตัว กร๊าฟแบบนโปเลียน, ไพ่ป๊อก, เสี่ยงทาย, พรหมชาติ, ลายมือ
เหตุผลข้อเปรียบเทียบ
(1) ถ้าหมอดูใช้ตำราทั้ง 6 อย่างที่กล่าวมานี้ ดูบุตรฝาแฝด จะถูกต้องสักกี่เปอร์เซ็นต์ บุตรฝาแฝดซึ่งเกิดจากบิดา - มารดาเดียวกัน รูปร่างคล้ายคลึงกันหากเวลาเกิดต่างกันนิสัยใจคอย่อมไม่เหมือนกัน และได้ประสบการณ์ในชีวิตก็ต่างกัน
(2) สำหรับโหรใช้เวลาเกิดเป็นหลักพยากรณ์เพียง 4 นาที อาจให้ลัคนาสถิตผิดราศีก็ได้ หรือไม่ก็ผิดนวางค์ - ตรียางค์ แม้ลัคนาอยู่ในราศีเดียวกันแต่หากต่างนวางค์ - ตรียางค์หรือฤกษ์แล้ว ย่อมทำให้นิสัยใจคอผิดกัน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเจ้าชาตาก็ต่างกัน
ปัจจุบันมักเรียกโหรว่าหมอ จะเนื่องจากให้หมอดูดูกันเสียบ่อยๆ จนชินปาก หรือจะเนื่องด้วยโหรผู้ที่รู้วิชาโหราศาสตร์ยังมีน้อยไม่มีใครค่อยรู้จักมากนัก และวิชาโหราศาสตร์ก็ยังไม่แพร่หลายเข้าถึงประชาชนทั่วไป
เรียนโหราศาสตร์ให้รู้จริงได้อย่างไร
การศึกษาวิชาโหราศาสตร์เป็นของลึกซึ้งเป็นอันมาก ต้องพยายามศึกษาจริงๆ เนื่องจากวิชานี้ยากและไม่สู้มีผู้สนใจเรียน เพราะไม่มีโรงเรียนอย่างหนึ่ง และไม่มีการสอบอีกอย่างหนึ่ง ต้องอาศัยฝึกฝนด้วยตนเอง และสืบเสาะหาตำราอย่างตั้งใจจริงจะพออ่านใจความในดวงชาตาออกซ้ำท่านผู้รู้บางท่านจะปิดๆ เคล็ดไม่สู้จะบอกกล่าวกันโดยตรง จึงเป็นเหตุให้ผู้เรียนท้อถอย เมื่อคิดแต่เผินๆ ว่าไม่สู้จะมีประโยชน์เพราะไม่ใช่การค้าขายที่ได้เงินได้ทองก็ไปอีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าหากคิดให้ละเอียดแล้ว ขอให้คิดไปว่าคนเราเกิดมาในโลกก็ต้องหาเลี้ยงชีพทุกผู้ทุกนาม พอลืมตาขึ้นก็เห็นแสงสว่างของดวงอาทิตย์เรียกว่าแลเห็นโลก จะเดินไปไหนก็มีหนทางที่เขาทำไว้ให้เดินตามพื้นดิน แต่มืดต่อทางเดินแห่งชีวิตคือยังไม่ทราบว่าชีวิตต่อไปนี้จะทำอะไรจึงจะดีต่อไปในชีวิตข้างหน้า
เมื่อทราบว่าวิชาโหราศาสตร์ เป็นแว่นตาส่องทางเดินของชีวิตได้จริงก็ควรขวนขวายพอให้รู้หนทางนี้บ้าง ถ้าผู้ใดรู้วิชานี้ไว้บ้างก็เท่ากับมีไฟฉายส่องทางเดินในเวลากลางคืนมืด ฉะนั้นถ้าจะศึกษาวิชาโหราศาสตร์ไม่ต้องไปศึกษาหมอดู เพราะหมอดูเขาใช้สำหรับคนชั้นต่ำชั้นกลาง ส่วนโหราศาสตร์เขาใช้สำหรับคนชั้นสูง วิชาที่หมอดูใช้อยู่ทั่วไปคือเลข 7 ตัว, เลข 12 ตัว กร๊าฟแบบนโปเลียน, ไพ่ป๊อก, เสี่ยงทาย, พรหมชาติ, ลายมือ สิ่งเหล่านี้อย่านำไปใช้ปนกับโหราศาสตร์เพราะไม่ใช่วิชาโหราศาสตร์ เรื่องนี้ควรระมัดระวังให้มาก
การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ของเราส่วนมากไม่ได้เรียนกันอย่างจริงๆ จังๆ กัน เมื่อเราศึกษาไม่ทั่วถึงจะไปว่าตำราผิดอย่างไรกัน นอกจากนั้นพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้ว่า บุคคลใดสร้างกรรมไว้มากกรรมย่อมสนองผลก็ได้ แบบเดียวกับท่านไปอาศัยอยู่กับพวกหมู่อันธพาลถึงดวงดาวดี แต่ในสถานที่นั้นล้วนแต่ผู้มีกรรมชั่ว ดวงดาวดีย่อมส่งผลให้ได้ยากเหมือนกัน เพราะดวงดาวดีขณะนั้นถูกความมืดมนปิดบังเช่นเดียวกับเมฆหมอกปกคลุมดวงจันทร์และดวงอาทิตย์
การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ให้รู้แจ้งเห็นจริงนั้นสามารถเรียนได้เท่าเทียมกันทุกคน ไม่สำคัญที่พรสวรรค์หรือบุคลิกลักษณะแต่ประการใด สิ่งที่จำเป็นคือ
-
ผู้ที่จะศึกษาต้องทราบความเป็นมาของโหราศาสตร์เป็นขั้นๆ และดำเนินการฝึกฝนตนเองไปตามลำดับจากเบื้องต้นไปสู่ปลาย
-
อย่าลอกคำพยากรณ์เป็นดุ้นๆ จะไม่เหมาะแก่กาลสมัย
-
พูดง่ายๆ และอ่านรหัสดวงดาวโดยใช้ปทานุกรมแปลอยู่ตลอดเวลา
-
ทำความเข้าใจทุกแง่ทุกมุม
-
ให้สังเกตและพยากรณ์ดินฟ้าอากาศโดยอาศัยโหราศาสตร์ กับ ภูมิศาสตร์ ซึ่งเป็นการพยากรณ์ส่วนใหญ่
-
ให้สังเกตและพยากรณ์เหตุการณ์อันเกิดแต่กลุ่มชนทั่วไป
-
ให้สังเกตการณ์พยากรณ์เป็นรายบุคคล
-
ให้สังเกตการณ์จดจำจากการพยากรณ์ที่ถือว่าถูกต้องที่แล้วๆ มา
-
ให้สังเกตและบันทึกเป็นหลักฐานเพื่อความคิดเห็นไว้ด้วย
เหตุผลในการใช้ดวงชาตากำเนิดพยากรณ์วิถีชีวิตบุคคล
โหราศาสตร์ถือเวลาเกิดเป็นสิ่งสำคัญยิ่งนัก ณ จุดเวลาเกิดเป็นเครื่องมือพิจารณาชี้ชีวิตของบุคคล จุดเวลาเกิดอันถือเอาตอนเด็กเริ่มร้อยและหายใจ ปอดเริ่มทำงาน บรรยากาศภายนอกประกอบด้วยพิกัดของดาวพระเคราะห์ต่างๆ ในเวลานั้นเหมือนพิมพ์ประทับ เกิดการปรุงแต่งในตัวเด็ก เรียกจุดเวลาเกิดนั้นว่า ลัคนา
ลัคนา คือจุดเวลาเกิดประกอบกับตำแหน่งดวงดาวเป็นสิ่งพยากรณ์ชาตาความเป็นไปของบุคคล
ในขณะที่เด็กอยู่ในมดลูกของสตรีนั้น เด็กยังไม่มีการหายใจ ภายในมดลูกที่เด็กอยู่ก็มีเยื่อห่อหุ้มเรียกว่ารก อาหารที่เด็กได้รับจากกระแสโลหิตของมารดาภายในเยื่อรกที่หุ้มเด็กอยู่ย่อมมีความกดดันไม่เหมือนกับบรรยากาศภายนอก ตัวเรานี้มีบรรยากาศรอบๆ และเปลี่ยนความกดดันอยู่ทุกวินาที หรือส่วนของวินาที ท่านมองดูผิวน้ำที่มีเกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งและกำลังงานอันมาจากดวงดาวต่างๆ ในจักรวาล ดังจะเห็นว่ามุมของทิศทางแรงต่างๆ ของดวงดาวโคจรอยู่ตลอดเวลาย่อมเคลื่อนอยู่ตลอดเวลาบรรยากาศโลก เราก็รับแรงนั้นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วยอยู่ทุกขณะ
เมื่อรกเด็กออกมาสู่บรรยากาศนอกมดลูก และถ้าตัวเด็กเปิดเผยต่อบรรยากาศของโลกทุกอวัยวะเด็กที่เคยอยู่ในความกดดันของมดลูก ก็จะพองออกเพื่อให้เสมอกับบรรยากาศภายนอกการพองตัวและขยายตัวนี้ ทุกอวัยวะจะขายตัวออกถึงจุดหนึ่ง ซึ่งเป็นความกดดันของบรรยากาศของโลก ณ จุดนั้น ปอดเมื่อขยายตัวถึงความกดดันของบรรยากาศภายนอกแล้ว แล้วก็หดลงเป็นขนาดเดิมด้วยกำลังยืดหยุ่นของปอด อากาศก็วิ่งเข้าและออกสู่ปอด เด็กจึงมีการหายใจขึ้น ณ จุดเวลานี้เอง บรรยากาศ ณ จุดเวลานั้นพิมพ์ประทับความกดดันแก่ทุกๆ สิ่งในตัวเด็ก ไม่ว่าสมองหรือไม่ว่าการหายใจและความเติบโตเปล่งปลั่งทั้งปวงที่ถูกความกดดันในรกบังคับอยู่ บรรยากาศภายนอก ณ จุดนั้นจึงทำเสมือนพิมพ์กดลงบนตัวเด็ก ขอให้ท่านดูการทำลูกบิลเลียด หากแม่พิมพ์กลมดิกไม่เบี้ยวลูกบิลเลียดก็จะกลิ้งไปโดยสม่ำเสมอ หากแม่พิมพ์เบี้ยว ลูกบิลเลียดก็จะโขยกเขยกไปตามเรื่อง แม่พิมพ์ของบุคคลก็เช่นกัน เราก็พิจารณาดูว่า ณ จุดเกิดของเด็กนั้นดาวต่างๆ อยู่ ณ พิกัดใด ให้คุณให้โทษอย่างไร ถ้าให้คุณตามเกณฑ์ที่เคยสังเกตไว้ ชีวิตของเด็กที่จะผ่านบรรยากาศของโลกในโอกาสต่อไปก็ราบรื่น หากมีความบกพร่องต่อไป ก็มักลำบากยากเข็ญแบบลูกบิลเลียดเบี้ยวกลิ้งไปนั่นเอง
การพยากรณ์ชีวิตของบุคคลจึงแบ่งออกเป็นตอนสำคัญไว้ 2 ตอน คือ
-
พื้นดวงกำเนิด เปรียบเหมือนบ้าน ท่านต้องค้นดูว่าเขาผู้นั้นมีอะไรบกพร่อง หากบ้านนั้นจั่วอ่อนแอเราก็รู้ดีทีเดียวว่า
-
ดาวจร ดาวจรนั้นเวลาพายุพัดมาตรงจั่วจะหักลงก่อนที่อื่น เช่นนี้เป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าวนี้ เป็นเหตุผลอันเด่นชัด มนุษย์เราอันประกอบด้วย ธาตุ กับจิตใจ เมื่อธาตุถูกสร้างมาดี จิตใจย่อมดีไปตามธาตุเช่นกัน กระแสของดวงดาวในอนาคตต่อมาย่อมเกิดผลโดยตรงกับธาตุและจิตใจของคน โดยลำดับกันทางโหราศาสตร์จึงถือเอาดวงชาตาอันแสดงพิกัดของดวงดาว ณ จุดเวลาเด็กเกิดเปรียบเทียบกับพิกัดของดวงดาวต่างๆ ในปัจจุบัน ซึ่งทราบได้จากการคำนวณทำปฏิทินโหราศาสตร์เป็นเครื่องมือพยากรณ์ชีวิตของบุคคล ซึ่งทุกวันนี้เราถือว่าแม่นยำอย่างสูงสุดพอใช้การได้
เหตุผลของโหราศาสตร์และศาสนาข้าพเจ้าได้ยินท่านผู้ใหญ่พูดว่า “สำหรับพุทธศาสนิกแท้ดูไม่น่ามีความจำเป็นอะไรที่จะข้องแวะกับโหราศาสตร์” เพราะพุทธศาสนาสอนไว้สมเหตุสมผลดีที่สุดแล้วว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และก็เคยได้ยินพระโหราจารย์แสดงอธิบายว่าโหราศาสตร์เป็นอุปกรณ์ช่วยบุคคลทำดี และได้รับผลดีตามคำสอนนั้น
ขอยกว่า ทุกคนย่อมอยากได้ดีด้วยกันทั้งนั้น และพยายามประกอบเหตุอันดี ครั้นแล้วหาประสบผลดีสมใจคาดทุกคนไม่ เพราะผลดีนั้นๆ มีตั้งร้อยอย่างพันอย่าง และเหตุประกอบอันจะนำไปหาผลดีนั้นเล่าก็มีตั้งพันประการ เมื่อไม่ทันทราบรายละเอียดก่อนว่า ประการไหนจะตรงไปให้ผลดีอย่างไรแก่ตนแน่ก็ต้องเดาสุ่มไปตามเพลง ถ้าผลดีอยู่ทางหนึ่งเหตุที่ประกอบนั้นเลี่ยงไปเสียทางหนึ่ง ถึงจะเป็นผลที่ดีก็ย่อมคลาดแคล้วไปจากผลที่หวังไว้ แม้เผอิญได้ผลดีมาใหม่ก็ไม่ใช่ที่ประสงค์เสมือนเดินทางผิด หากจะถึงที่อื่นก็มิใช่ที่มุ่งหมาย โหราศาสตร์เป็นเครื่องส่องทางเดินตรงไปยังสายที่ต้องการผลโดยไม่ให้เสียเวลาเหลวเปล่า
โดยมากมักเข้าใจว่า ผลดี ผลร้าย แห่งการกระทำของบุคคลคือ กรรม หรือจะเรียกว่า กุศล และอกุศล ประกอบด้วยก็ไม่ผิด และก็ไม่สนใจคำว่าโชคนั้นมาก ถ้ามีกุศลก็ว่ามีโชค ถ้ามีอกุศลก็ว่ามีโชคร้าย
ในเรื่อง กรรม นี้มีความเห็นแตกต่างกัน ความดีเด่นชัดนั้น คนจำนวนมากยอมรับว่า กรรม คือการกระทำที่มีผลถึงขนาด ใช่แต่เฉพาะทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว กรรม คือการกระทำที่ให้เกิดเป็นผลขึ้น เช่นปลุกต้นไม้ไว้ก็อาจได้ผลของต้นไม้ หรือเราไปฆ่าเขาตายเขาก็ตามจับเราไปฆ่าเช่นเดียวกัน
คนส่วนมากมักไม่เข้าใจว่า กรรม คือการกระทำแต่ชาติก่อนที่เชื่อกันว่ามนุษย์จะต้องเวียนเกิดเวียนตาย เป็นสิ่งที่เคยบันดาลความเป็นไปของคนเราให้ผิดไปกว่าที่เราคาดคะเนไว้มากบ้างน้อยบ้าง ส่วนอิทธิพลของกรรม บางคนถือว่าจะหลีกเลี่ยงเสียมิได้เพราะพี่น้องท้องเดียวกันยังมีนิสัยและเหตุผลต่างกัน
ทางโหราศาสตร์เห็นว่า กรรมคือสิ่งที่เราทำไว้แต่ปางก่อนแต่ลืมเสียไม่นึกถึงจนกระทั่งพบผลของกรรมนั้น เพราะฉะนั้นถ้าผู้ใดรู้เสียก่อนว่ากรรมคือสิ่งที่ตนทำไว้แล้วในอดีต จักให้ผลดีและผลร้ายในเวลานั้นก็อาจแก้พิษร้ายให้น้อยลง และเพิ่มกำลังแห่งกรรมดีให้บังเกิดผลดียิ่งๆ ขึ้นจนเรียกว่าเป็นโชค
ฉะนั้นจึงเห็นว่าทุกคนควรเรียนรู้วิชาโหรไว้เพื่อทราบหนทางแห่งกรรมดี คือเหตุดีและเหตุชั่ว คือกรรมชั่ว นั้นไว้ด้วย
ความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับพุทธศาสนา
โหราศาสตร์กับพุทธศาสนามีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันอยู่ เพราะว่าพระพุทธเจ้าขณะที่ยังทรงเป็นมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นโอรสของกษัตริย์ พระราชบิดาหวังจะให้ปกครองแผ่นดินต่อไป จึงได้โปรดให้พระราชโอรสศึกษาวิชาการต่างๆ ที่มีอยู่ในขณะนั้น ตามประวัติบ่งว่า “ศิลปะศาสตร์” ศึกษาจบถึง 18 สาขา ถ้าเทียงกับสมัยปัจจุบัน หมายถึงพระพุทธเจ้าได้สำเร็จปริญญาโลกหลายสาขา ยิ่งกว่าด๊อกเตอร์หรือดุษฎีมหาบัณฑิตคนใดๆ ในยุคนี้ และหากจะพิมพ์นามบัตรมีดีกรีพ่วงท้ายไปด้วยต้องใช้การ์ดแผ่นใหญ่มาก
“ศิลปะศาสตร์” ทั้ง 18 สาขานั้นมีหลักฐานยืนยันแน่นอนว่า พระองค์ทรงศึกษาเจนจบทั้ง 18 สาขา และมีวิชาโหราศาสตร์รวมอยู่ด้วยสาขาหนึ่ง ด้วยเหตุนี้เมื่อพระองค์ออกบวชและสำเร็จ “สพฺพณฺณุตญาณ” ทางศาสนาเพิ่มอีกสาขาหนึ่ง พระองค์จึงทรงบัญญัติหลักวิชาการต่างๆ ลงใน “พุทธศาสนา”
ฉะนั้นหลักพุทธศาสนาในปัจจุบันนี้ บางข้อบางประการจึงคล้ายคลึงกับหลักทางโหราศาสตร์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระองค์ได้ยึดเอาหลักวิชาการทางโหราศาสตร์มาเป็นแนวพื้นฐาน ในการบัญญัติวิชาการทางพุทธศาสนาของพระองค์ด้วย ตัวอย่างข้อนี้คือหลัก “กาลญฺณุตา” คือจะทำอะไรให้รู้จักกาลเวลาที่เหมาะกัน ตรงกับหลักการคือ “ฤกษ์” ในทางโหราศาสตร์นั่นเอง เพราะว่าการดูฤกษ์นั้น คือการดูเวลาอันเป็นศุภมงคลที่เหมาะสมในการประกอบกิจการงานต่างๆ เพื่อความสุข ความวัฒนาถาวร ความสำเร็จผล และเพื่อประสิทธิ์ฯ ความเจริญให้ได้ต้องตามความต้องการนั่นเอง นี่แหละคือความสัมพันธ์ระหว่างโหราศาสตร์กับพุทธศาสนา
ข้อแนะนำในการศึกษาวิชาโหราศาสตร์
เนื่องจากวิชาโหราศาสตร์เป็นวิชาที่ลึกลับซับซ้อน การศึกษาจึงมีแต่การสับสนสลับซับซ้อนทั่วๆ ไป หลักสำคัญมีอยู่ว่า
1. ท่านต้องเรียนไปอย่างช้าๆ อย่าด่วนรีบเรียนจนเร็วเกินไป อาจทำให้ท่านสับสนยุ่งยากใจขึ้นภายหลัง
2. ต้องศึกษากฎเกณฑ์หลักมูลฐานขั้นต้นโดยทั่วๆ ไปเป็นขั้นๆ โดยใช้เวลาพอสมควร
3. เรียนอย่างมีระเบียบด้วยวิธีที่ถูกต้องเป็นขั้นๆ อย่าข้ามไปข้ามมา มิฉะนั้นจะจับหลักไขว้เขวและปนไปกันหมด ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผลวินิจฉัยที่ต้องอาศัยหลักเปรียบเทียบความสัมพันธ์
4. การวิเคราะห์หาความชำนาญ ใช้วิธีอนุมาณเปรียบเทียบว่าสอดคล้องหรือขัดแย้งเสริมกำลังหรือลดกำลังลงไปแค่ไหน การประมาณหลักเบาตลอดถึงผลมากน้อย
5. เมื่อศึกษามาพอสมควรแล้ว ฝึกหัดปัญหาคำถามต่างๆ แล้วค้นหาวิธีตอบ ท่านควรลองใช้ความพยายามด้วยความรู้ความเข้าใจของท่านเองเสียชั้นหนึ่งก่อน ครูของท่านคือ ตัวของท่านเอง และท่านควรจะซื่อสัตย์ต่อตัวเองด้วย
ถ้าท่านมีโอกาสก็ควรหัดพยากรณ์คนในบ้านของท่านทุกคน เพื่อนๆ ของท่านเพื่อหาความเจนจัดจากประสบการณ์จริงๆ เรื่อยไป
การศึกษาวิชาโหราศาสตร์เป็นของกว้างขวางและพิสดารมาก ถ้าหากจะเอาตำรามารวมกันทั้งเก่าและใหม่ก็นับเป็นจำนวนพันๆ เล่ม และรวมทั้งภารตะ สากล ไทย จีน ก็นับกันไม่ไหว ฉะนั้นการศึกษาวิชาโหราศาสตร์จึงไม่รู้จักจบสิ้นลงได้เหมือนกับวิชาการแพทย์ซึ่งมีโรคเพิ่มขึ้นฉันนั้น แต่เท่าที่ทราบโหรทั้งหลายเอาแต่ส่วนที่เข้ากันได้เฉพาะโหรไทยแล้วนิยมทำนายกันทางราศี ที่เรียนกว่า “ดวงจักรราศี” การศึกษาวิชาโหราศาสตร์เพื่อเข้าใจแต่ละอย่างให้แจ่มแจ้งชัดเจนไม่ใช่อยู่ที่การท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทอง ต้องอยู่ที่การเข้าใจทุกสิ่งทุกอย่างทุกแง่ทุกมุมเช่นกับการผสมสีเป็นต้น เรารู้จักการเอาสีมาผสมกัน สีแดงกับสีขาวจะออกเป็นสีอะไร ถ้าเราอ่านสีผสมนั้นออกก็เรียนโหราศาสตร์เข้าใจได้แจ่มแจ้ง สีแดงผสมสีขาวต้องออกสีผสมเป็นสีชมพู เมื่อผสมสีเป็นเราก็สามารถเรียนวิชาโหราศาสตร์กันได้เท่าเทียมกันทุกคน ไม่เป็นการสำคัญที่ต้องมีพรสวรรค์หรือบุคลิกลักษณะแต่ประการใด ส่วนการพยากรณ์พิสดารเป็นเรื่องที่นักพยากรณ์จะสอนตัวเองด้วยการค้นสอบหาความชำนาญต่อไป
◉ ดังคำโคลงของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ดังนี้
ฝูงคนกำเนิดคล้าย คลึงกัน ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ แผกบ้าง
ความรู้อาจเรียนทัน กันหมด ยกแต่ชั่วดีกระด้าง อ่อนแก้ฤๅไหว ฯ
การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ขั้นแรก
การศึกษาวิชาโหราศาสตร์ในขั้นแรก ควรทำความเข้าใจคำว่า จักรวาลเสียก่อนแล้วจึงรู้จักกับคำว่า สุริยจักรวาล และจักรราศีในขั้นต่อไปเป็นลำดับ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานการศึกษาวิชาโหราศาสตร์ต่อไป
จักรวาล
จักรวาล หมายถึงปริมณฑลท้องฟ้าอันได้แก่วงรอบหรือวงกลมของท้องฟ้า พูดอย่างง่ายๆ จักรวาลหมายถึงเนื้อที่แผ่นฟ้าครอบคลุมตัวเรา ฉะนั้นเมื่อเราอยู่ ณ ที่ใดๆ ก็ตาม มองตรงไปในที่โล่งแจ้งรอบๆ ตัวจะเห็นเป็นท้องฟ้า แหงนหน้าขึ้นเราก็พบแต่ท้องฟ้า เนื้อที่ของท้องฟ้าทั้งหมดนั้นแหละคือจักรวาล
สุริยจักรวาล
สุริยจักรวาล คือจักรวาลที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นหลักเป็นประธาน มีอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า ระบบสุริยคติ อันหมายถึงระเบียบแบบแผนที่รวมส่วนต่างๆ อันเกี่ยวกับดวงอาทิตย์เข้าด้วยกันตามลำดับ และสุริยจักรวาลนั้นประกอบไปด้วย ดวงอาทิตย์เป็นประธาน และมีดาวเคราะห์ พุธ ศุกร์ โลก อังคาร พฤหัสบดี เสาร์ และดวงจันทร์เป็นบริวาร
จักรราศี
จักรราศี คือเขตที่กำหนดเป็นเส้นทางรวมกัน โอบอยู่โดยรอบเป็นรูปวงกลมในท้องฟ้า มีระยะจากสุริยวิถีข้างละ 90 องศา เรียกว่า ภาจักร หรือ รัศมีมณฑล เป็นวงกลมที่ไม่มีต้นและปลาย เพื่อสะดวกแก่การกำหนดระยะ จึงตั้งจุดเริ่มต้นเป็นจุดหมายตายตัวขึ้นเรียกว่าจุดต้นของราศี เริ่มราศีเมษ จักรราศีหมุนอยู่รอบแกนวันละรอบ จากตะวันออกไปตะวันตก
สุริยวิถี คือทางโคจรของอาทิตย์ เรียกว่า อปมณฑล หรือ รวมรคา เป็นทางตรงผ่านตลอดศูนย์กลางของเส้นทางรอบจักรราศี
ราศี คือส่วนหนึ่งของจักรราศีในห้วงเวหาของสุริยวิถีแบ่งออกเป็น 12 ภาค เรียกแต่ละภาคว่า ราศี ราศีหนึ่งมีระยะเขต 30 องศา และเฉพาะราศีหนึ่งๆ มีคุณภาพพิเศษต่างๆ กัน และราศีหนึ่งแบ่งออกเป็นส่วนใหญ่อีก 3 ส่วน เรียกว่าตรียางค์ และตรียางค์หนึ่งๆ แบ่งเป็นซอยลงไป 3 ซอย เรียกว่า นวางค์ รวมการแบ่งจักรราศีมีดังนี้คือ ภายในจักรราศีแบ่งเป็น 12 ราศี
-
1 ราศี มี 30 องศา เท่ากับ 3 ตรียางค์
-
1 ตรียางค์ เท่ากับ 3 นวางค์
-
1 นวางค์ เท่ากับ 200 ลิปดา
-
1 องศา มี 60 ลิปดา 1 ลิปดา มี 60 พิลิปดา
ดังนั้นทั้งหมดโดยรอบของจักรราศีได้ 360 องศา หรือ 360*60 ได้ 21600 ลิปดา หรือ 21600*60 ได้ 1296000 พิลิปดา รวม 12 ราศี มี 360 องศา มี 36 ตรียางค์ มี 108 นวางค์ ราศีหนึ่งมี 3 ตรียางค์ 9 นวางค์
นักษัตร คือดาวฤกษ์อันเป็นแขกของสุริยวิถีมีหมู่ดาว 27 หมู่ หมู่ดาวหรือนักษัตรเหล่านี้ เรียกกันว่าเป็นที่อาศัยของดวงจันทร์ เพราะดวงจันทร์ต้องอาศัยจรผ่านเข้าในหมู่นักษัตรเหล่านี้ครบทั้ง 27 นักษัตร จึงได้ 1 รอบวงจร ดังนั้นดาวจันทร์จึงสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับนักษัตรทั้ง 27 นี้ เมื่อจันทร์ผ่านหมู่นักษัตรในสุริยวิถีครบ 27 นักษัตร หรือครบรอบหนึ่งก็เป็นที่หมายได้ว่า 1 เดือนจันทรคติ นักษัตรหนึ่งแบ่งออกเป็น 4 ส่วน เรียกส่วนนั้นๆ ว่าบาท หรือจัตุภาคและบาทหนึ่งเท่ากับ 3 องศา 20 ลิปดา รวมรอบจักรราศีหรือเส้นโค้งของจักรวาลหรือว่ารวมทั้งจักรราศีประกอบด้วย 108 บาท เท่ากับ 108 นวางค์นั่นเอง ดังนั้นนักษัตรหนึ่งแบ่งออกได้ 13 องศา 20 ลิปดา ราศีและนักษัตรทั้ง 2 อย่างถือเอาจุดเริ่มต้น ณ ที่จุดเดียวกันของราศีเมษ และเป็นจุดเริ่มต้นของนักษัตรอัศวินีด้วย หมายความว่าทั้งราศีและนักษัตรร่วมจุดเริ่มต้นจุดเดียวกัน
ระบบดาวเคราะห์
ระบบดาวเคราะห์คือระบบสุริยะ โดยมีดาวเคราะห์มีรัศมีแรงกล้า คือดวงอาทิตย์เป็นประธาน ประกอบด้วยดาวเคราะห์ 7 ดวง (รวมทั้งอาทิตย์เองด้วย) ดาวเคราะห์ทุกดวงรักษาศูนย์กลางของการหมุนเวียน และศูนย์กลางที่ได้รับแสงโชติช่วงไว้ได้ด้วยการดึงดูดจากกำลังของอาทิตย์และเคลื่อนตัวเป็นวงอยู่รอบดวงอาทิตย์ ระยะที่ดาวเคราะห์เคลื่อนไปจากจุดหนึ่งถึงอีกจุดหนึ่งไม่เท่ากัน เปลี่ยนไปตามเหตุเฉพาะของแต่ละดาวเคราะห์ในระบบดาวเคราะห์นั้นมีราหูและเกตุร่วมอยู่ด้วยโดยถือเป็น อปรกาศะเคราะห์ (ดาวเคราะห์ไม่มีแสง) ความสำคัญของดาวเคราะห์ทั้ง 2 นี้ เมื่อเข้าไปสถิตราศีใดก็คล้อยตามสัญลักษณ์ของราศีนั้นๆ
ดาวเสาร์อยู่ห่างไกลจากพื้นปฐพีมากที่สุด ต่อมาพฤหัสบดี อังคาร อาทิตย์ ศุกร์ พุธ และจันทร์ใกล้เข้ามาตามลำดับ
การหมุนเวียนและอาการหมุน ท่านโบราณจารย์ได้สังเกตเห็นว่าอาการเคลื่อนไหวของแต่ละดาวเคราะห์ได้ก่อให้เกิดอิทธิพลเหนือปรากฏการณ์ของพื้นปฐพี เพราะดาวเคราะห์ทุกดวงรับกำลังดึงดูดและแสงโชติช่วงจากดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ดำเนินการเคลื่อนไหวพร้อมกัน 2 อย่าง คือ
1. เคลื่อนไหวไปรอบดวงอาทิตย์ เพื่อรักษาศูนย์กลางของกำลังดึงดูด และศูนย์กลางของแสงโชติช่วง ในขณะดาวเคราะห์กำลังเคลื่อนไหวเกิดคลื่นในอากาศหรืออากาศเกิดเป็นคลื่น
2. ดาวเคราะห์เคลื่อนไหวหมุนรอบตัวเอง เพื่อรักษาการทรงตัวทางดิ่ง ในขณะที่หมุนก็เกิดแรงเหวี่ยงกระจายกระแสวัตถุส่วนประสมในตัว แปลเป็นกระแสอิทธิพลเข้าประสมส่วนกับคลื่นอากาศ และคลื่นนี้พร้อมด้วยส่งกระแสอิทธิพลส่งตัวเองทยอยกันมากมากระทบกับพื้นปฐพีให้เกิดปรากฎการณ์ต่างๆ สุดแท้แต่กระแสวัตถุประสมหรือรวมความว่าคุณภาพของดาวเคราะห์นั้นส่งอิทธิพลออกจากตัวดาวเคราะห์
เมื่ออาการเคลื่อนไหวของดาวเคราะห์ทั้ง 2 ประการ และรวมทั้งโลกเข้าด้วย จึงเรียกว่าโคจรเป็นความหมาย
กำลังโคจรของดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์แต่ละดวงมีกำลังเร็วในการโคจรของตัวเองโดยยึดหลักระยะใกล้ไกลจากโลก เช่น ดาวเคราะห์จันทร์เป็นตัวอย่าง ดาวเคราะห์จันทร์อยู่ใกล้กับเรามากที่สุด ดังนั้นจึงโคจรไปอย่างรวดเร็ว ดาวเคราะห์จันทร์โคจรไปรอบจักรราศี 1 รอบ ประมาณ 30 วันจันทรคติ ดาวเสาร์อยู่ไกลมากที่สุดจากโลก มีอาการเชื่องช้า ดังนั้นดาวเสาร์จึงโคจรรอบจักรราศี 1 รอบประมาณ 30 ปี ดาวเคราะห์ไม่อาจรักษากำลังโคจรให้เสมอคงที่ได้เพราะเหตุหลายประการ
|