ประวัติ นายบรรหาร ศิลปอาชา (19 สิงหาคม พ.ศ. 2475 – 23 เมษายน พ.ศ. 2559) เป็นนักการเมืองชาวไทย นายกรัฐมนตรีไทยคนที่ 21 อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสุพรรณบุรี 11 สมัย และอดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย (บางแหล่งกล่าวว่าแท้จริงแล้วเกิดวันที่ 19 กรกฎาคม ปีเดียวกัน แต่ที่ปรากฏตามทะเบียนราษฎร์คือวันที่ 19 สิงหาคม ที่จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรคนที่ 4 ในจำนวน 6 คน ของเซ่งกิม และสายเอ็ง แซ่เบ๊ เดิมบรรหารมีชื่อว่า เต็กเซียง แซ่เบ๊ (馬德祥)
นายบรรหารสมรสกับคุณแจ่มใส ศิลปอาชา มีบุตร-ธิดารวม 3 คน
เป็นชาย 1 คน คือ นายวราวุธ ศิลปอาชา (สมรสกับสุวรรณา ไรวินท์ ทายาทตระกูลไรวินท์ เจ้าของธุรกิจ ซุปไก่ก้อนรีวอง)
เป็นหญิง 2 คน คือ นส.กัญจนา ศิลปอาชา และ นส.ปาริชาติ ศิลปอาชา
นายบรรหารจบการศึกษาชั้นประถมที่จังหวัดสุพรรณบุรี เข้ากรุงเทพมาเรียนหนังสือชั้นมัธยมที่โรงเรียนวัฒนศิลป์วิทยาลัย แต่ต้องหยุดเรียนไป เนื่องจากเกิดสงครามโลกครั้งที่สอง หันไปทำงานกับพี่ชาย และก่อตั้งบริษัทรับเหมาก่อสร้างเป็นของตัวเอง เป็นตัวแทนจำหน่ายคลอรีนให้แก่การประปาส่วนภูมิภาค จนมีฐานะร่ำรวย ต่อมาเมื่อเป็นนักการเมืองแล้ว จึงเริ่มเรียนหนังสือต่อจนจบปริญญาตรี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อ พ.ศ. 2529 และศึกษาต่อปริญญาโทนิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน
วันที่ 21 เมษายน 2559 บรรหารเกิดภาวะภูมิแพ้และหอบหืดกำเริบ จนต้องนำส่งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ กรุงเทพมหานคร อาการวิกฤติตั้งแต่วันแรกที่เข้ารับการรักษา จนถึงเวลา 04:42 นาฬิกา ของวันที่ 23 เมษายน 2559 จึงถึงแก่อนิจกรรมจากภาวะดังกล่าว (สิริรวมอายุได้ 83 ปี 247 วัน)
ประวัติการศึกษา และวุฒิกิตติมศักดิ์
นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา สถาบันราชภัฏสวนสุนันทา
ใน พ.ศ. 2553 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ได้มอบปริญญาครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิตกิตติมศักดิ์ ให้แก่บรรหารอีกด้วย ระหว่างที่นายบรรหารเรียนนิติศาสตร์ที่รามคำแหงอยู่นั้น นายบรรหารเคยเรียนกับนายวิษณุ เครืองามด้วย
การทำงานทางการเมือง
บรรหารเข้าสู่วงการเมืองจากการชักชวนของบุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ ตั้งแต่มีการก่อตั้งพรรคชาติไทยเมื่อ พ.ศ. 2517 ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติใน พ.ศ. 2516 และเป็นสมาชิกวุฒิสภา ใน พ.ศ. 2518 ก่อนที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสุพรรณบุรี เมื่อ พ.ศ. 2519 และ ได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาทุกสมัยที่มีการเลือกตั้ง ต่อมานายบรรหารขึ้นดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคชาติไทยใน พ.ศ. 2523 และในปีเดียวกันนั้น เขาถูกพินิจ จันทรสุรินทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำปาง และคณะรวม 42 คน ยื่นคำร้องต่อคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ ขอให้วินิจฉัยว่า เขาขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และสำเร็จการศึกษาต่ำกว่ามัธยมศึกษาตอนปลาย แต่คณะตุลาการรัฐธรรมนูญมีมติให้ยกคำร้องดังกล่าว
ต่อมาใน พ.ศ. 2537 บรรหารได้ขึ้นดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคชาติไทย และเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย
การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2538 นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะหัวหน้าพรรคชาติไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีสมาชิกของพรรคได้รับเลือกตั้งมากที่สุด ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ทำให้นายบรรหาร ได้ดำรงตำแหน่งเป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 21 ของประเทศไทย พร้อมควบตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อีกตำแหน่งหนึ่งระหว่างเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2538 ถึง พฤศจิกายน พ.ศ. 2539
รัฐบาลนายบรรหาร มีผลงานที่โดดเด่นคือ การเริ่มร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2540 ฉบับที่ 16
การบริหารราชการแผ่นดินในดำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเขา ดำเนินไปด้วยความไม่ราบรื่น จนกระทั่งในวันที่ 18-20 กันยายน พ.ศ. 2539 เขาถูกพรรคฝ่ายค้าน นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายไม่ไว้วางใจโจมตีว่าการบริหารประเทศไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นไปตามนโยบายที่แถลงไว้ ประกอบกับพรรคร่วมรัฐบาลได้แก่ พรรคความหวังใหม่ พรรคนำไทย และพรรคมวลชน ได้ขอให้เขาลาออกจากตำแหน่ง แต่เขาได้ตัดสินใจยุบสภา เมื่อวันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2539 แทน
นายบรรหารมีสมญานามมากมาย จากลักษณะเด่นหลายประการ เช่น มีฐานเสียงหนาแน่นอย่างที่สุดในจังหวัดสุพรรณบุรี มีสถานะเป็นเจ้าถิ่นจนได้สมญาว่า "มังกรสุพรรณ" หรือ "มังกรการเมือง" และเนื่องจากมีลักษณะคล้าย เติ้งเสี่ยวผิง อดีตผู้นำจีน สื่อมวลชนจึงนิยมเรียกนายบรรหารสั้น ๆ ว่า "เติ้ง" หรือ "เติ้งเสี่ยวหาร"
บทบาทหลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ในการเลือกตั้งใน พ.ศ. 2548 พรรคชาติไทยซึ่งใช้คำหาเสียงว่า "สัจจะนิยม สร้างสังคมให้สมดุล" บรรหารในฐานะหัวหน้าพรรคได้ประกาศไว้ตั้งแต่ต้นแล้วว่า ไม่จะขอร่วมรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อีก ถ้าพรรคไทยรักไทยสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้ ในวิกฤตการณ์การเมืองไทย พ.ศ. 2548–2553 พรรคชาติไทยได้ทำหน้าที่เป็นฝ่ายค้าน และร่วมกับพรรคประชาธิปัตย์และพรรคมหาชน คว่ำบาตรการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2549
ก่อนการเลือกตั้งในปลาย พ.ศ. 2550 ไม่นาน ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปร่วมกับพรรคพลังประชาชนซึ่งเป็นกลุ่มอำนาจเก่าจัดตั้งรัฐบาลหรือไม่ บรรหารตอบว่า "จะไม่ทำให้ผู้ใหญ่ที่นับถือมา 30 ปี ผิดหวัง" ซึ่งบรรหารไม่ได้บอกว่าเป็นใคร แต่สาธารณชนก็ตีความว่า หมายถึง พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ หลังการเลือกตั้งปรากฏว่า บรรหารและพรรคชาติไทยก็ไปเข้าร่วมกับพรรคพลังประชาชนจัดตั้งรัฐบาล ทำให้ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ รองหัวหน้าพรรค ได้ออกมาโจมตีและแฉพฤติกรรมนายบรรหารเป็นการใหญ่
บรรหารรวมทั้งวราวุธและกัญจนาถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นระยะเวลาทั้งหมด 5 ปี เนื่องจากการยุบพรรคชาติไทย ซึ่งขณะนั้นบรรหารดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2557 เขาได้สมัครรับเลือกตั้งในระบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคชาติไทยพัฒนา ลำดับที่ 1
|