ในแผ่นดิน พระศรีสุธรรมราชา พระเจ้าอาว์ของสมเด็จพระนารายณ์มีเหตุการณ์สำคัญ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ทรงโทมนัสน้อยพระทัย และตัดสินพระทัยเข้ายึดอำนาจในพระราชพงศาวดาร กล่าวไว้ว่า
“จึงให้หาขุนนางเข้ามาในพระราชวัง ตรัสแจ้งประพฤติเหตุ ซึ่งจะทำการยุทธนั้น ขุนนางทั้งหลายได้แจ้งในรับสั่ง ดังนั้นต่างคนก็ทูลอาสาขอเอาชีวิตเป็นแดนแทนพระคุณทุกคน สมเด็จพระนารายณ์เป็นเจ้าได้ทรงฟังมีพระทัยปราโมทย์ยิ่งนักตรัสให้กระทำมงคลแต่งให้ผลทั้งปวงใส่เป็นสำคัญแล้ว ให้เอาใบสะเดาเป็นประเจียด สำหรับเมื่อจะยุทธ์นั้น เพราะเหตุว่าพระศรีสุธรรมราชาธิราชใช้พระชนมวารวันศุกร์ และใบสะเดานั้นเป็นนาม แห่งอริราช”
จากข้อความตอนนี้ ทำให้ได้รับความรู้ว่าในสมัยโบราณนั้น การเฉลิมพระนามพระมหากษัตริย์ มักจะตั้งชื่อโดยถือคัมภีร์ทักษาเป็นเกณฑ์ ดังนั้นพระศรีสุธรรมราชาซึ่งทรงประสูติวันศุกร์ พระนามศรีสุธรรมราชา เป็นนามบริวารตามทักษา โหรโบราณท่านไม่ใช้อักษรศรีและเดช หากแต่ยึดอักษรบริวารเป็นหลัก เช่นเดียวกับการตั้งชื่อพระภิกษุซึ่งใช้อักษรบริวารโดยคิดจากวันเกิดเป็นสำคัญ ชวนให้คิดต่อไปว่า อันพระนามศรีสุธรรมราชานั้น หากจะแยกตัวอักษรกันอย่างละเอียดแล้ว ก็จะได้อักษรกาลกรรณีถึง 3 ตัว คือ ร. สามตัวคล้ายกัน ใช้เป็นตัวสะกด แสดงให้เห็นว่า การใช้อักษรสะกดนั้นท่านไม่ถือสา แม้เป็นกาลกรรณีก็ไม่ให้โทษ เพราะมิใช่ตัวเน้นที่จะออกเสียง อันตัวสำคัญที่จะทำให้ออกเสียงก็คือ อักษร ศ. และ ส. ซึ่งเป็นอักษรบริวาร
ส่วนใบสะเดาจัดเป็นนามอริ แก่พระศรีสุธรรมราชานั้นชวนให้คิดไปได้สองนัยคือประการแรกโหรโบราณถือว่าอักษรวรรคอุตสาหะ คือตัว ด. เป็นวรรคอริแก่ดวงชาตาผู้ที่เกิดวันศุกร์ ดังที่พูดกันติดปากนักพยากรณ์ว่า “อุตสาหะน้องกาลี” แต่เมื่อพิจารณาอย่างรอบคอบเห็นว่าขาดเหตุผล คงจะมีที่มาทางอื่นมากกว่า เพราะจริงอยู่บุคคลที่เกิดวันจันทร์อักษรวรรคอุตสาหะ คือวรรคราหูพุธกลางคืน ราหูนั้นเป็นบาปเคราะห์ย่อมเบียนจันทร์อย่างมิต้องสงสัย และบุคคลผู้เกิดวันศุกร์ อักษรวรรคอุตสาหะคือ วรรคเสาร์ เป็นศัตรูกัน ดูก็น่าชวนคิด แต่บุคคลเกิดวันอาทิตย์ อักษรวรรคอุตสาหะคือ วรรคพฤหัสบดีกรณีนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพฤหัสบดีกรณีนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพฤหัสบดีเป็นคู่มิตรกับอาทิตย์ ดังคำกลอนที่ว่า “อาทิตย์เป็นมิตรกับคร” นั้น จึงดูขัดๆ กันอยู่ หรือบุคคลเกิดวันอังคารจะได้อักษรอุตสาหะ คือ วรรคศุกร์ อันเป็นคู่มิตรกับอังคาร นี่แหลที่เห็นว่าดูไม่สมเหตุสมผลเพราะเหตุนี้จึงชวนให้คิดไปว่าอาจจะมีมูลเหตุมาจากกรณีอื่น หากจะถือจากข้อความในประวัติศาสตร์ตอนนั้นเป็นหลัก ก็ทำให้เข้าใจไปได้สองทาง คือ ทางแรกคงจะนำอักษรจากดาวพระเคราะห์อริในดวงชาตามาใช้ คือ พระลัคนาของพระศรีสุธรรมต้องสถิตอยู่ราศีสิงห์ หรือราศีกันย์ จึงจะได้อักษรวรรคเสาร์ ซึ่งเป็นเกษตรเจ้าเรือนภพอริมาใช้เหตุผลอีกทางหนึ่งซึ่งดูแยบยลดีมาก ก็คือเขาใช้วันอันเป็นคู่ศัตรูกันนั่นเองมาเป็นอักษรอริ เป็นเรื่องง่ายๆ แบบเส้นผมบังภูเขา เช่นคนเกิดวันศุกร์ก็ใช้อักษรเสาร์ อันเป็นคู่ศัตรูของศุกร์ คนเกิดวันอาทิตย์ ใช้อักษรวรรค อังคาร คนเกิดวันจันทร์ใช้อักษรวรรคพฤหัสบดี เกิดวันอังคารใช้อักษรวรรคอาทิตย์ เกิดวันพุธใช้อักษรวรรคราหู และเกิดวันเสาร์ใช้อักษรวรรคศุกร์ ดังนี้เป็นต้น
หากว่าถือเกณฑ์วันคู่ศัตรูกันเป็นสำคัญ เช่นนี้ก็ทำให้พอคลำหาทางได้ว่า ทำไมโหรโบราณท่านจึงไม่ใช้อักษรวรรคเดชและศรีมาเฉลิมพระนามพระมหากษัตริย์ นั่นก็เพราะว่า อักษรวรรคเดชหรือศรี บางครั้งก็เป็นอักษรศัตรูแก่ตัวเองนั่นเอง ดังเช่นเกิดวันอาทิตย์ อักษรเดชคืออังคารซึ่งเป็นคู่ศัตรูกัน เกิดวันพุธอักษรศรีคือราหูคู่ศัตรูสำคัญเกิดวันจันทร์ อักษรศรีคือเสาร์ ซึ่งเข้ากันไม่ได้เพราะดาวเป็นศัตรูกัน
เห็นว่าดูออกจะยุ่งๆ ชอบกล เพราะโหรโบราณท่านเล่นทักษาประกอบโหราศาสตร์ แต่พอเอาเข้าจริง ท่านกลับไม่เอาเดชเอาศรีตามภูมิทักษานั้น เพราะเดช, ศรีบางครั้งก็ไปตรงกับดาวคู่อริกับวันเกิด ท่านจึงเลี่ยงไปเอาอักษรบริวารเป็นหลักสำคัญจากข้อชวนคิดอันนี้ทำให้มั่นใจว่า แต่โบราณนั้นท่านตั้งชื่อโดยใช้อักษรบริวาร ทั้งนี้ก็เพื่อจะเลี่ยงอักษรดาวคู่ศัตรูนั่นเอง การตั้งฉายาพระภิกขุอันนิยมเป็นประเพณีรับมาแต่โบราณกาลล่วงมาจนบัดนี้ จึงได้ยึดถืออักษรบริวาร คืออักษรวันเกิดสำคัญกว่าอื่นยิ่งได้อ่านการตั้งชื่อ อันมีการยกตัวอย่างดวงชูชกมาประกอบด้วยนั้นก็ยิ่งจะทำให้ความจริงอันนี้แจ่มชัดยิ่งขึ้น
แม้ในสมัยรัตนโกสินทร์นี้การตั้งพระนามกษัตริย์ก็ยังคงถือตามคติโบราณอยู่ คือใช้อักษรบริวารเป็นพระนาม ดังเช่นในหลวงรัชกาลที่ 5 ทรงพระนามว่าพระบาทสมเด็จระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนามเดิม จุฬาลงกรณ์ เพราะท่านทรงประสูติวันอังคารจึงต้องใช้อักษร จ. อันเป็นอักษรบริวาร ตามคัมภีร์ทักษาพยากรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อานันทมหิดล ทรงประสูติวันอาทิตย์ จึงใช้อักษร อ. ซึ่งเป็นอักษรบริวาร
ดังตัวอย่างที่กล่าวมานี้ ย่อมชี้ให้ท่านนักโหราศาสตร์ในสมัยปัจจุบัน ได้ตระหนักชัดว่า แต่สมัยโบราณนั้นเรานิยมใช้การตั้งชื่อด้วยการนำเอาอักษรวรรคบริวารอันถือจากวันกำเนิดมาใช้ มิได้ใช้อักษรเดชหรือศรีดังที่เราใช้กันอยู่ในขณะนี้
ต่อไปขออัญเชิญพระฤกษ์ ปราบดาภิเษกของสมเด็จพระนารายณ์มาพิจารณา ซึ่งมีบันทึกไว้ในพระราชพงศาวดาร ว่า
“ครั้นลุศักราช 1018 ปีวอก อัฐศก วันพฤหัสบดี เดือนสิบสอง แรมสองค่ำเพลาชายแล้วสองนาฬิกา จึงพระมหาราชครู และท้าวพระยาสามนตราชเสนาบดีมนตรีมุขทั้งปวง ก็อัญเชิญสมเด็จพระบรมพิตรพระเป็นเจ้า เสด็จปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติถวัลยราชประเพณีโดยบุรพมหากษัตราธิราชเจ้าแต่ก่อน อันผ่านภพ ณ กรุงพระมหานครบวรทวาราวดีศรีอยุธยานั้น”
วันพฤหัสบดี แรมสองค่ำ เมื่อตรวจดิถีประจำวันดู ปรากฏว่าเป็นดิถีกลางๆ ไม่ดีไม่ร้าย เป็นดิถีคาบเส้นทีเดียว หากเป็นวันหนึ่งค่ำจะตรงกับวันทินกาล หรือวันยอดจัดเป็นดิถีที่เลว ท่านไม่นิยมกัน ลองให้เคลื่อนไปอีกหนึ่งวันคือเป็นวัน 3 ค่ำ ยิ่งไม่ดีใหญ่ตรงกับวันอัคนิโรธ ถือเป็นวันร้ายแรงไม่ควรทำงานมงคล เรื่องนี้แสดงให้เห็นว่าโหรโบราณท่านเคร่งครัดในเรื่องการเลือกดิถีเป็นอย่างยิ่ง
วันราชาภิเษกของพระเพทราชาครั้งที่สอง ณ กรุงศรีอยุธยามีกล่าวไว้ว่า “ครั้นถึงวันพฤหัสบดี เดือนสิบ ขึ้นเจ็ดค่ำ ปีจอ จัดวาศก เพลาเช้าแล้ว สี่นาฬิกาสี่บาท ได้มหามงคลราชสวัสดิ์ อุดมฤกษ์....ฯลฯ”
อันวันพฤหัสบดี ขึ้นเจ็ดค่ำนี้ ตรงกับวันมหาสิทธิโชคท่านถือกันว่าฤกษ์อันตรงกับวันดังกล่าวนี้ย่อมให้คุณอย่างอเนกอนันต์ นี่เป็นฤกษ์สำคัญยิ่งอีกฤกษ์หนึ่งซึ่งมีข้อสังเกตว่า โหรท่านเคร่งครัดในเรื่องการใช้ดิถีกันมาก ตรงกันข้ามกับในสมัยนี้ ไม่มีใครถือดิถีกันเสียแล้ว แม้กาลโยคก็ไม่มีใครถือ ดูแล้วน่ากลุ้มใจแทน ข้าพเจ้าเคยเห็นตัวอย่างภัยพิบัติอันเกิดจากการไม่ถือกาลโยคจากคนสมัยใหม่มารายหนึ่ง ดังจะยกมาเป็นอุทาหรณ์
วันพฤหัสบดี เมื่อปี 2509 ตรงกับวันโลกาวินาศ เกิดจะมีการแต่งงานขึ้นคู่หนึ่งบังเอิญเป็นคนคุ้นเคยกัน ข้าพเจ้าจึงทักท้วงว่าไม่เหมาะ ควรเลื่อนเสียเพราะยังมีเวลาพอจะแก้ไขได้ ทางฝ่ายเจ้าสาวเขายืนกรานจะเอาวันนั้น ทั้งๆ ที่ฝ่ายเจ้าบ่าวเองก็อยากจะเลื่อนเหมือนกัน ได้ความว่าเจ้าสาวเป็นคนเชื่อในเรื่องการทรงเจ้าเข้าผี และฤกษ์การแต่งงานนั้น ผู้ทรงเจ้าเข้าผีบอกมาให้เอาวันนั้น เมื่อเห็นว่าเขาดื้อจะเอาวันโลกาวินาศให้ได้ ข้าพเจ้าก็ช่วยได้แต่เพียงแก้เวลาหลั่งน้ำสังข์ ให้ลัคนาเกาะราศีที่ดี มีดาวพระเคราะห์คุ้มกันช่วยเหลือและอยู่ในมุมที่เป็นคุณต่อลัคนาเดิม ซึ่งก็ช่วยอะไรไม่ได้มากนัก เพราะเวลาเขากะมาเสร็จแล้ว เราเป็นเพียงแก้ไขมิให้เสียหายร้ายแรงหนักขึ้นเท่านั้น ผลที่เกิดขึ้นก็คือ แต่งงานเสร็จเพียงวันเดียว เจ้าสาวเกิดเป็นโรคไขข้ออักเสบอย่างกระทันหัน ได้รับทุกข์ทรมานถึงเดินไม่ได้ ต้องวิ่งเต้น ปัดรังควานกันเป็นการใหญ่ กว่าจะหายเป็นปกติก็ร่วมเดือนเศษและเจ็บกระเสาะกระแสะเรื่อยมา นี่เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการดื้อรั้นจะเอาวันโลกาวินาศ มาเป็นวันมงคลสมรส ผลที่สุดเจอดีเข้าจนได้
ฤกษ์ลงมือสร้างพระปฐมเจดีย์ ตรงกับวันพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก โทศก พ.ศ.2403 ตรวจดูดิถีแล้วปรากฏว่าเป็นดิถีดีเยี่ยมคือพฤหัสบดี ขึ้น 4 ค่ำ เป็นอมฤตโชค ย่อมให้คุณและนำความสำเร็จมาให้
วันยกยอดพระปฐมเจดีย์ ตรงกับวันพุธ แรม 11 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย พ.ศ.2413 ตรวจดิถีไม่ตรงกับดิถีร้าย แม้จะไม่ใช่ดิถีตามมาตรฐานที่วางไว้ แต่โหรโบราณท่านเพียงระวังมิให้ตรงกับดิถีร้ายเท่านั้น
วันปักผังขุดรากวัดราชบพิธ ตรงกับวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือนอ้าย จ.ศ.1231 เวลาบ่าย 3 โมง ไม่ตรงกับดิถีร้ายเช่นกัน
วันฝังอาถรรพณ์เมืองใหม่ปากลัด ตรงกับวันศุกร์ แรม 10 ค่ำ เดือน 7 จ.ศ.1177 ปีกุน เวลาเช้า วันนี้ดิถีเป็นมหาสิทธิโชค ให้คุณดีเยี่ยม
วันอาทิตย์เดือนสาม แรม 11 ค่ำ จ.ศ.1136 พระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกทัพหลวงไปโดยชลมารค ได้มหาพิชัยฤกษ์ ดิถีดีเป็นสิทธิโชค
สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี เสด็จยกพยุหยาตรานาวาทัพหลวง ขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อวันอังคาร เดือน 12 แรม 11 ค่ำ ตรวจดิถีแล้วไม่ให้โทษอะไร
เมื่อได้ตรวจจากบันทึกในประวัติศาสตร์ ดูเหตุการณ์สำคัญๆ ที่เกิดขึ้น หากว่าตรงกับดิถีไม่ดีมักจะให้โทษมากกว่าให้คุณ ดังเช่น ในแผ่นดินพระเจ้า กรุงธนบุรี มีเหตุการณ์ประหลาดคือ “วันพุธ แรม 8 ค่ำ เดือน 4 กลางคืนเพลาสิบทุ่ม ดาวอนุราธเข้าในดวงพระจันทร์ตลอดไป”
อันวันพุธ แรม 8 ค่ำ ตรงกับดิถีร้ายเป็นกาลกรรณี เหตุนี้จึงเกิดจลาจลขึ้นทางเมืองหลวงส่งพระยาสรรคบุรีไปปราบ ก็ไปเข้าเป็นพวกฝ่ายจลาจลเสียอีก ผลที่สุดได้ยกกำลังมายึดกรุงธนบุรีไว้ได้
ปรากฏการณ์ของธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นในสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ก่อนหน้านี้คือ
วันพฤหัสบดี แรม 1 ค่ำ เดือน 12 บังเกิดทุนิมิตรบนอากาศเมฆปรากฏเป็นต้นกระแพงฝ่ายทิศบูรพ”
วันที่เกิดปรากฏการณ์ประหลาดนี้ คือวันพฤหัสบดี แรม 11 ค่ำ เป็นดิถีกาลกรรณีให้โทษ ปรากฏว่า พระเจ้ากรุงธนบุรีพระสติเริ่มฟั่นเฟือน ได้สั่งประหารคนเป็นจำนวนมาก
ปรากฏการณ์อีกวันหนึ่งซึ่งไม่ดีคือ วันพฤหัสบดี แรม 8 ค่ำ เดือน 5 เพลาบ่ายบังเกิดธุมชาลในอากาศ แลมหาวาตะพายุใหญ่พัดมาแต่บูรพทิศ ดิถีในวันนั้นตรงกับดิถีทักทินไฟ และอัคนิโรธ จึงเกิดเรื่องไม่ดีขึ้น พระเจ้ากรุงธนบิรีทรงพระพิโรธเจ้าพนักงานชาวพระภูษามาลาว่า แกล้งทำประจานพระองค์เล่น และให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระเจ้าลูกเธอ กรมขุนอินทรพิทักษ์ร้อยทีแล้วจำไว้ เพราะเข้ากับฝ่ายผิด แล้วให้เอาตัวชาวพระภูษามาลาซึ่งทรงเครื่องทั้งสองคน และพระยาอุทัยธรรมจางวางไปประหารชีวิตเสียทั้งสองคน
ปรากฏการณ์พิเศษที่สำคัญอีกครั้งหนึ่ง เกิดตรงกับวันกทิงวันพอดี เมื่อพระเจ้ากรุงธนบุรี ได้เสด็จยกทัพหลวงไปช่วยเมืองพิษณุโลก มีบันทึกลางไม่ดีว่า
“ถึงวันอังคาร ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เกิดอัศจรรย์บนอากาศมืดคลุ้มไป ไม่เห็นดวงพระอาทิตย์สิ้นวันยังค่ำ” เหตุการณ์ที่ปรากฏต่อมาก็คือ ต้องเสียเมืองพิษณุโลก
วันยกหลักเมืองกรุงเทพฯ ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 9 ค่ำ ไม่ตรงกับดิถีร้ายแต่อย่างไร
พระบาทสมเด็จ พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ทรงเสด็จยกทัพหลวงไปช่วยกรมพระราชวังบวรพระอนุชาไปปราบพม่าหัวเมืองชายทะเล เมื่อวันศุกร์ ขึ้น 11 ค่ำ เดือน 4 ตรงกับดิถีสิทธิโชค ในประวัติศาสตร์บันทึกว่า วันนั้นได้มหาพิชัย อุดมฤกษ์หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นชัดว่าการหาฤกษ์ในสมัยโบราณนั้นท่านเคร่งในเรื่องดิถีกันมาก
วันที่กรมพระราชวังบวรฯ เสด็จยาตรามหานาวาพยุหทัพหลวงออกจากกรุงเทพมหานครนั้น ตรงกับวันเสาร์ เดือน 4 ขึ้น 5 ค่ำ อันเสาร์ 5 นี้ เป็นวันที่เป็นมงคลฤกษ์สำคัญ รู้จักกันดีโดยทั่วกันแล้ว ท่านถือว่าเป็นอมฤตโชค ให้ความสำเร็จผลดีเยี่ยม
วันยกทัพครั้งสำคัญอีกวันหนึ่งคือ วันพฤหัสบดี ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ (ในรัชกาลที่ 1) เสร็จพระราชดำเนินพยุหยาตรานาวาทัพหลวงจากกรุงเทพมหานครไปโดยทางชลมารค ดิถีในวันนี้ไม่ตรงกับดิถีร้าย
วันเสาร์ 5 อีกวันหนึ่ง ซึ่งพระพุทธยอดฟ้าทรงยกทัพหลวงเสด็จยกทัพไปตีเมืองทวาย คือ “วันเสาร์ ขึ้น 5 ค่ำ เดือนยี่ เพลาสามโมงเช้าสี่บาท ได้มหาพิชัยมงคลมหุติฤกษ์” จัดว่าเป็นการยกทัพไปในวันที่มีดิถีดีเยี่ยม คือเสาร์ที่ 5 เป็นอมฤตโชค
ฤกษ์อันไม่ตรงกับดิถีร้ายอีกวันหนึ่งคือ พระราชพิธีอุปราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เมื่อวันอาทิตย์ เดือน 4 ขึ้น 7 ค่ำ ปีขาล อัฐศก จุลศักราช 1168
เท่าที่ประมวลเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์มานี้ก็เพื่อชี้ให้เห็นว่า การให้ฤกษ์ยามในสมัยโบราณนั้น ท่านเคร่งครัดในเรื่องดิถีเป็นพิเศษ แม้ว่าฤกษ์ยามจะดีสักปานใด หากดิถีไม่อำนวยแล้ว ท่านไม่ยอมเอาฤกษ์นั้นกันทีเดียว เพื่อประโยชน์แก่ผู้ที่อยากจะทราบว่าดิถีที่ดีนั้นเป็นอย่างไรจึงขอรวบรวมไว้ดังนี้
ดิถีที่ถือกันว่าดีเยี่ยม คือ ดิถีอมฤตโชค วันอาทิตย์ตรงกับ 8 ค่ำ จันทร์ 3 ค่ำ อังคาร 9 ค่ำ พุธ 2 ค่ำ พฤหัสบดี 4 ค่ำ ศุกร์ 1 ค่ำ เสาร์ 5 ค่ำ ดิถีดังกล่าวนี้จะเป็นข้างขึ้นหรือข้างแรมใช้ได้ทั้งนั้น หากตรงกับข้างขึ้น ย่อมจะดีกว่าวันข้างแรม เป็นของธรรมดา ส่วนมากงานมงคลท่านมักจะเลือกเอาในวันข้างขึ้น นอกเสียจากจำเป็นจริงๆ จึงจะใช้ข้างแรม
ดิถีดีเยี่ยมอันดับสองคือ ดิถีมหาสิทธิโชค วันอาทิตย์ตรงกับ 14 ค่ำ จันทร์ 12 ค่ำ อังคาร 13 ค่ำ พุธ 4 ค่ำ พฤหัสบดี 7 ค่ำ ศุกร์ 10 ค่ำ เสาร์ 15 ค่ำ
ดิถีที่ดีอีกอย่างหนึ่งคือ ดิถีสิทธิโชค หรือเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่ามหาวัน ท่านถือว่าหากทำงานมงคลในวันเช่นนี้ จะสมความปรารถนาทุกประการ คือ อาทิตย์ตรงกับ 11 ค่ำ จันทร์ 5 ค่ำ อังคาร 14 ค่ำ พุธ 10 ค่ำ พฤหัสบดี 9 ค่ำ ศุกร์ 11 ค่ำ เสาร์ 4 ค่ำ
ดิถีกลางๆ ที่ไม่ให้โทษนั้น โหราจารย์จึงควรจะรู้ไว้บ้าง หากเราไม่สามารถเลือกฤกษ์ยามที่ดีตรงกับดิถีดีได้ ก็ให้เลือกเอาดิถีกลางๆ มาใช้ จะไม่ให้โทษแต่อย่างไรมีดังนี้
วันอาทิตย์ ดิถีกลางที่ไม่ดีและไม่ร้าย คือ 2 3 6 7 9 10 13 15 ค่ำ
วันจันทร์ ดิถีกลาง คือ 1 5 7 8 9 10 13 14 15 ค่ำ
วันอังคาร ดิถีกลาง คือ 2 3 4 11 12 ค่ำ
วันพุธ ดิถีกลาง คือ 1 5 6 7 11 12 14 15 ค่ำ
วันพฤหัสบดี ดิถีกลาง คือ 2 3 10 11 12 13 14 15 ค่ำ
วันศุกร์ ดิถีกลาง คือ 4 5 6 12 13 14 15 ค่ำ
วันเสาร์ ดิถีกลาง คือ 2 3 11 12 13 14 ค่ำ
นอกเหนือไปจากดิถีดีและดิถีกลาง ดังที่รวบรวมไว้นี้แล้ว จัดว่าเป็นดิถีร้ายทั้งสิ้น ไม่ควรทำงานมงคลในวันดิถีร้ายเป็นอันขาด จะเป็นอัปมงคล และก่อให้เกิดผลเสียในภายหลัง ควรที่โหราจารย์สมัยใหม่ผู้ไม่ยอมเคร่งในดิถีจะได้สังวรณ์ไว้
|