ประสูติวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ตรงกับวันที่ 18 พฤษภาคม อัญชันศักราช 68
ตรัสรู้ วันอาทิตย์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา ตรงกับวันที่ 20 พฤษภาคม อัญชันศักราช 103
ปรินิพพาน วันจันทร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 15 พฤษภาคม อัญชันศักราช 147
วันที่คำนวณขึ้นนี้ ดังได้กล่าวไว้แล้วข้างต้นว่าแตกต่างกับฝ่ายมหายานถึง 66 ปี ซึ่งเรื่องนี้ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ ในวงการโหรทั่วโลก
จะขอยกเอาข้อคิดเห็นของนักปราชญ์ทางดาราศาสตร์ และโหราศาสตร์ฝ่ายนอกศาสนาพุทธ ซึ่งก็ได้สนใจในวันประสูติของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทำการคำนวณไว้ ซึ่งนายศิระ นามะสนธิ กรรมการสมาคมโหรแห่งประเทศไทยได้รวบรวมมา 7 รายการด้วยกันมีดังนี้
นายอภัยกูณ จากลังกายืนยันว่า สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ประสูติปี 2478 กลียุคศักราช วันเพ็ญเดือน ไวศาขะ ประมาณเที่ยงวัน ตรงกับวันอังคารที่ 26 เมษายน ก่อนคริสตศักราช 624 ผู้เชี่ยวชาญทางปฏิทิน ได้ตรวจดูแล้วเห็นว่าคลาดเคลื่อน เพราะวันที่ 26 เมษายน ก.ค.624 นี้ ตรงกับวันศุกร์ มิใช่วันอังคาร
นายเฟอร์นันโด จากปนทุระว่า ในกากะยาระนาฑิ บอกว่าพระพุทธเจ้าประสูติวันอาทิตย์ ตรงกับวันเพ็ญเดือนไวศาขะ กลียุคศักราช 2478
ยังมีปราชญ์อินเดียอีก 3 ท่าน ซึ่งมีข้อคิดเห็นแตกต่างไปอีก มีอยู่สามรายการ รายแรกกล่าวว่า
วันประสูติ ตรงกับวันที่ 10 มีนาคม ก.ค. 1887 รายนี้หนักข้อไปอีก คือว่าทางประสูตินานกว่าที่เราคิดขณะนี้อยู่ถึง 1344 ปี
ท่านหนึ่งว่า วันประสูติตรงกับวันที่ 4 เมษายน ก.ค.557 เหนือกว่าปัจจุบันขึ้นไปอีก 14 ปี
อีกท่านหนึ่งว่า วันประสูติ ตรงกับวันศุกร์ที่ 1 เมษายน ก.ค. 543
รายที่มีผู้ยกย่องกันมากก็คือ รายการของโหรอินเดีย 4 ท่าน ร่วมกันคำนวณรายนามผู้คำนวณคือ ฟ.ค. ทัตต, ซีรีล ฟากัน, ล.นารายณโร และ ว.บ. รามัน, ว่าทรงประสูติวันอังคารที่ 14 เมษายน ก.ค. 623 ประมาณ เที่ยงวัน ณ วิถันดรเหนือ 27 องศา 8 ลิปดา ที่ฆันดรตะวันออก 83 องศา 5 ลิปดา
ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับวันประสูติของพระพุทธองค์นี้ ยังมีขัดแย้งแตกต่างอีกมากมาย ดังปรากฏในหนังสือวันพระพุทธเจ้าของ นายทองเจือ อ่างแก้ว ผู้เชี่ยวชาญทางการคำนวณดาราศาสตร์ไทยตามสูตรคัมภีร์สุริยยาตร์ ได้อ้างถึงวันประสูติของพระพุทธเจ้าเท่าที่รวบรวมมาจากอื่นๆ มีดังนี้
ท่าน ปรินเซปว่า ประสูติ ปี ก.ค. 1027 ศุกร์ 11 เมษายน
ท่าน แจ๊กริก ประสูติ ปี ก.ค. 901 อังคาร 29 มีนาคม
ท่าน มณีเมฆไล ประสูติ ปี ก.ค. 846 อังคาร 20 เมษายน
นักปราชญ์มอญ ประสูติ ปี ก.ค. 638 พฤหัสบดี 31 มีนาคม
ท่าน ตักเกอแมน ประสูติ ปี ก.ค. 572 อาทิตย์ 11 เมษายน
ในบรรดา 5 ท่านนี้ มีแปลกแหวกแนวคือท่าน ตักเกอแมน อ้างว่าคำนวณด้วยอีเลกโทรนิก นายทองเจือ อ่างแก้ว ได้ตรวจสอบละเอียดแล้วเห็นว่าของ ท่าน บี.วี.รามัน (ซึ่งคำนวณ 4 คน ร่วมกัน) ที่ว่าเป็นวันที่ 14 เมษายน ก.ค. 623 ตรงกับขึ้น 14 ค่ำ ไม่ใช่วันเพ็ญ และของท่านตักเกอแมน ซึ่งคำนวณด้วยอิเลกโทรนิกยิ่งไปกันใหญ่ เพราะห่างวันเพ็ญลิบลับ คือตรงกับขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6
นายทองเจือ จึงคำนวณวันประสูติของพระพุทธเจ้าขึ้นบ้าง โดยถือเคร่งตามพระอรรถกถา คือวันศุกร์ ปีจอ ตรงกับวันเพ็ญ วิสาขมาส ผลที่สุดก็ได้วันดังนี้
วันประสูติ ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ ก.ค. 587
ผลของการค้นหาวันพระพุทธเจ้าทรงประสูติขึ้นใหม่นี้ นายทองเจือ อ่างแก้ว ผู้คำนวณอ้างไว้ว่า
“แต่ถ้าวัน เดือน ปี ของพระพุทธเจ้าที่ข้าพเจ้าอ้าง ณ หนังสือเล่มนี้เป็นการถูกต้อง เพราะตรงกับพุทธประวัติ อรถกถา ประวัติศาสตร์ และโหราศาสตร์ และปีที่อ้างก็อยู่ระหว่างกลางด้วย คือน้อยกว่าหินยาน 16 ปี และมากกว่ามหายาน 30 ปี การนับปี พ.ศ. ที่ถูกต้อง คือ พ.ศ. 2510 - 36 =พ.ศ. 2474 ยังอีก 26 ปี จึงจะถึงกึ่งพุทธกาล”
|